รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง พร้อมมอบยาชุดน้ำท่วมให้ผู้ประสบภัย 500 ชุด ขณะนี้พบผู้ป่วยจากน้ำท่วม 285 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด กำชับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เฝ้าระวังป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วม และภายหลังน้ำลด เช่น โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2554) นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายพศิษฐ์ ศักดาณรงค์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์อิทธิพล สูงแข็ง รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต เดินทางตรวจเยี่ยมติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดพัทลุง โดยรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมภายในพื้นที่พัทลุง เยี่ยมผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลปากพะยูน จากนั้นเดินทางไปที่ศาลาประชาคมบ้านบางมวง หมู่ 3 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน เยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่จากโรงพยาบาลปากพะยูนที่ให้บริการตรวจรักษาผู้ประสบภัย โดยได้ให้กำลังใจผู้ประสบภัย และมอบถุงยังชีพพร้อมยาชุดน้ำท่วมจำนวน 500 ชุด เพื่อให้ครัวเรือนใช้รักษาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น นายต่อพงษ์ให้สัมภาษณ์ว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคใต้ ได้มอบหมายให้มาติดตามการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ โดยสถานการณ์ที่จังหวัดพัทลุง เป็นน้ำหลากจากฝนตกหนัก มีน้ำท่วมพื้นที่ทั้งหมด 11 อำเภอ 59 ตำบล 615 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 154,964 คน พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือที่หมู่ 3 ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จำนวน 300 ครัวเรือน ประมาณ 1,000 คน ระดับน้ำท่วมสูง 1 เมตร ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำลดลงเรื่อย ๆ นายต่อพงษ์กล่าวต่อว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ให้การดูแลรักษาผู้เจ็บป่วยทุกวันวันละ 5 หน่วย เบื้องต้นพบผู้ป่วย 285 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด น้ำกัดเท้า ปวดเมื่อย ไม่มีผู้เสียชีวิต ในส่วนของสถานบริการสาธารณสุขไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สามารถเปิดบริการได้ตามปกติ ทุกแห่งมีความพร้อมทั้งบุคลากร เวชภัณฑ์ ดูแลผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่ “ได้กำชับให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ปรับระบบการให้บริการประชาชน หากประชาชนเดินทางไปรับบริการไม่สะดวก ให้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ดูแลทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจควบคู่กัน และให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังโรคที่มากับน้ำท่วมและหลังน้ำลด ได้แก่ โรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก โรคตาแดง โรคไข้หวัดใหญ่ และให้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ประชาชนในการดูแลตนเองเพื่อป้องกันโรคด้วย” นายต่อพงษ์กล่าว นายต่อพงษ์กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดภาคกลาง ขณะนี้แนวโน้มดีขึ้น โดยผลกระทบด้านสุขภาพจิต ผลการตรวจคัดกรองพบผู้ประสบภัยมีความเครียดสูง 7,047 ราย ซึมเศร้า 8,818 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 1,558 ราย และต้องติดตามดูแลเป็นพิเศษ 2,513 ราย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ************************************* 27 พฤศจิกายน 2554


   
   


View 5       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ