รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้ทุกจังหวัดทุกแห่ง เฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด เช่น ฉี่หนู ไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง รวมทั้งปัญหาบาดแผลอักเสบ ให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหรือเป็นแหล่งอาหารสัตว์นำโรค เช่นหนู แมลงวัน   และให้จังหวัดที่น้ำท่วมใช้วิธีแปรรูปขยะเปียก เศษอาหารผักผลไม้เป็นน้ำหมักอีเอ็ม นำไปแก้ไขกลิ่นน้ำเน่าเสีย

 
          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่าจากการตรวจเยี่ยมพื้นที่น้ำท่วมหลายแห่ง มีปัญหาที่น่าห่วง 2 เรื่อง คือ ปัญหาน้ำเน่าเสีย ซึ่งหลายแห่งน้ำเริ่มลด และสภาพน้ำนิ่ง แต่ประชาชนยังจำเป็นต้องใช้ชีวิตเดินลุยแหล่งน้ำเหล่านี้ และปัญหาของขยะเปียกรวมทั้งสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่มีจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารของหนู และแมลงวันวางไข่แพร่พันธุ์เร็วขึ้น  2 เรื่องนี้หากไม่เร่งดำเนินการจัดการแก้ไข อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดภายหลังน้ำท่วมได้ กระทรวงสาธารณสุขได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศ เฝ้าระวังป้องกันโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วง โรคตาแดง โรคไข้เลือดออก และบาดแผลอักเสบ และได้รับรายงานจากหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ว่าเริ่มพบผู้ป่วยบาดแผลอักเสบติดเชื้อพบได้ประมาณร้อยละ 3 ของผู้ที่ไปรับบริการ และโรคอุจจาระร่วง จากการรับประทานอาหารและน้ำไม่สะอาด พบผู้ป่วยประปราย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ยังดูแลตัวเองไม่เป็น ซึ่งพบในผู้ที่ไปรับบริการที่โรงพยาบาลสนามได้ประมาณร้อยละ 3-5 แต่ยังไม่มีการแพร่ระบาดในวงกว้าง
 
           นายวิทยากล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหา เพื่อป้องกันไม่ให้มีโรคแพร่ระบาดในพื้นที่น้ำท่วม ได้สั่งการให้กรมอนามัย กรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง ร่วมกันควบคุมกำจัดปัญหาแหล่งขยะ สิ่งปฏิกูล กำจัดไข่แมลงวัน พ่นสารเคมีกำจัดยุง เน้นหนักตามจุดพักพิง ซึ่งมีประชาชนอยู่รวมกันจำนวนมาก และได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เร่งดำเนินการแปรรูปเศษอาหาร เศษผัก ผลไม้ต่างๆที่ใช้ในครัวที่ปรุงอาหารแจกผู้ประสบภัยทุกแห่ง นำมาหมักเป็นน้ำอีเอ็ม เพื่อลดจำนวนขยะเปียกทั้งหมด และนำมาใช้ปรับแก้สภาพน้ำและกลิ่นน้ำเน่าเสียให้ดีขึ้น และประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนให้ทิ้งขยะลงถุงหรือภาชนะที่จัดไว้ อย่าทิ้งลงน้ำ รวมทั้งอย่าถ่ายอุจจาระลงน้ำ หากส้วมใช้การไม่ได้ให้ถ่ายอุจจาระลงในถุง เพื่อที่จะสามารถควบคุมปัญหาได้ง่ายขึ้น และให้ประชาชนล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากใช้ห้องน้ำห้องส้วมทุกครั้ง
 
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า หากผู้ประสบภัยเจ็บป่วย สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งที่อยู่ใกล้ และขณะนี้บางจังหวัดน้ำท่วมขังเริ่มนิ่ง ผู้ประสบภัยที่ลุยน้ำและมีบาดแผลเล็กๆ ที่เท้า อาจเสี่ยงเป็นโรคฉี่หนู โดยหลังรับเชื้อฉี่หนู 7 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ตาแดง ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและปวดน่องมาก ขอให้รีบไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการลุยน้ำหรืออยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขังให้แพทย์ทราบ เพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ทันท่วงที เพราะโรคนี้มียารักษาให้หายขาดแต่หากปล่อยไว้นานจนอาการมากขึ้น อาจเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน เช่น ปอดบวมหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้ออักเสบ สมองและไขสันหลังอักเสบ ไตวายได้ ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดของโรคฉี่หนู 
 
 ในการป้องกันโรคฉี่หนูควรหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำถ้ามีบาดแผล รอยถลอก รอยขีดข่วนควรงดลงน้ำหากจำเป็นต้องลุยน้ำต้องสวมรองเท้าบู๊ท หรือใช้ถุงพลาสติกยาวที่สภาพดี ไม่รั่วซึม สวมห่อหุ้มเท้าและขา  และหลังลุยน้ำรีบล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง 
 
******************************* 25 ตุลาคม 2554


   
   


View 12    25/10/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ