วันนี้(11 ตุลาคม 2554)นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าของการจัดบริการทางการแพทย์ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ว่า ได้กำชับให้ทุกจังหวัดดูแลสุขภาพผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง เนื่องจากผลของน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จะทำให้ปัญหาการเจ็บป่วยมีมากขึ้น โดยเน้นบริการเชิงรุก 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตรวจรักษาผู้ประสบภัยที่อยู่ในพื้นที่  2.ส่งหน่วยแพทย์ดูแลผู้ประสบภัยที่อยู่ในจุดอพยพต่างๆ ซึ่งต้องดูแลด้านความสะอาดของสุขาภิบาลน้ำ อาหาร ขยะมูลฝอย เพื่อป้องกันโรคระบาด ให้ทีมแพทย์คัดแยกกลุ่มที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังประจำตัว หญิงตั้งครรภ์ เด็ก    และ 3.ตั้งโรงพยาบาลสนาม บริการเหมือนโรงพยาบาลชุมชน ในจุดที่น้ำท่วมบริเวณกว้าง ซึ่งขณะนี้มี 3 แห่ง  ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ 1.ที่บริเวณห้างบิ๊กซี  2.ที่จุดอพยพที่ตลาดยิ่งเจริญทรัพย์ ตรงข้ามศาลกลางจังหวัด และ 3.ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวร เป็นจุดที่จัดตั้งเพิ่มวันนี้ เป็นทีมแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครราชสีมา จนถึงขณะนี้หน่วยแพทย์ออกปฏิบัติการ มีผู้เจ็บป่วยจากน้ำท่วม สะสม 517,820 ราย ปัญหาอันดับ 1 คือโรคน้ำกัดเท้า    
         
ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในส่วนการให้บริการในโรงพยาบาล ขณะนี้มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่ต้องปิดบริการตรวจรักษาแผนกผู้ป่วยนอกและฉุกเฉิน และงดรับผู้ป่วยในเป็นการชั่วคราว 2 แห่ง เนื่องจากน้ำท่วม คือที่โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำท่วมทรงตัว สูง 2.2 เมตร ไม่มีผู้ป่วยในและโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ ซึ่งขณะนี้ยังสามารถดูแลผู้ป่วยในที่มีเหลืออยู่ 490 ราย ในจำนวนนี้อาการหนัก 26 รายระดับน้ำสูงขึ้น เหลืออีก 20 เซนติเมตรจึงถึงอาคารบริการชั้นที่  1 โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการทดแทนนอกสถานที่แล้ว เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบประชาชนที่เจ็บป่วย
  
              นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้ให้โรงพยาบาลปทุมธานี ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกน้ำท่วม ได้เตรียมการป้องกันน้ำท่วมโรงพยาบาลเต็มที่ และจัดระบบความพร้อมในการรับมือ โดยขณะนี้มีผู้ป่วยหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 28 ราย จะย้ายไปที่โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคทรวงอก โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลอื่นๆ ในกทม. ให้หมดภายในวันนี้ คงเหลือผู้ป่วยที่อาการไม่หนักไว้ดูแลต่อ 336 ราย ซึ่งได้ย้ายผู้ป่วยที่อยู่อาคารชั้น 1 ทั้งหมด ขึ้นไปอยู่ที่ชั้น 2 และยังคงให้บริการตรวจรักษาตามปกติ แต่งดรับผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องหายใจเป็นการชั่วคราว โดยจะมีการประเมินสถานการณ์เป็นระยะๆ ทั้งนี้ได้สำรองออกซิเจนใช้ได้ 3 สัปดาห์ และสำรองยา เวชภัณฑ์ใช้ได้นาน 2 เดือน รวมทั้งอาหารผู้ป่วยด้วย
 
 ในกรณีที่ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้ ได้เตรียมแผนส่งผู้ป่วยที่อาการไม่หนักไปพักที่โรงงานซีพี อ.ลาดหลุมแก้ว ห่างจากโรงพยาบาล 13 กิโลเมตร สามารถรับได้ 100 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ได้เตรียมพาหนะลำเลียงผู้ป่วย ทั้งทางรถ ทางเรือ และได้จัดเครื่องสำรองไฟฟ้า ทั้งหมด  4 ตัว พร้อมใช้งานทันที     
 
                 นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้ปรับบริการการชันสูตรศพที่พบในพื้นที่น้ำท่วมที่ไม่มีญาติหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจนำมา โดยให้เจ้าหน้าที่ชันสูตรศพไปก่อนและให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป   
 
                                                                                                             ************************************** 11 ตุลาคม 2554


   
   


View 24       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ