องคมนตรีปาฐกถาพิเศษงานประชุมวิชาการประจำปี ให้งานสาธารณสุขเป็นงานท้าทายมีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชนและต้องทำให้เกิดประโยชน์ ความสุขแก่ประชาชนโดยนำนวตกรรมที่เป็นความรู้ใหม่ๆมาใช้และพัฒนาให้ดีขึ้น แนะเจ้าหน้าที่นำพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาปรับใช้ในการประกอบอาชีพดูแลประชาชน วันนี้(7 กันยายน 2554)ที่โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้จอมเทียน จังหวัดชลบุรี ฯพณฯองคมนตรีศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม วัฒนชัย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่มีต่อการสาธารณสุขไทย” ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2554 ว่า งานสาธารณสุขเป็นงานที่ท้าทาย มีเป้าหมายในการดูแลสุขภาพของประชาชน ต้องทำให้เกิดประโยชน์และความสุขแก่ประชาชน โดยนำนวตกรรมที่เป็นความรู้ใหม่ๆมาใช้และพัฒนาให้ดีขึ้น ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษม กล่าวต่อว่างานสาธารณสุขได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่รัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา มีการตั้งโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลพระมงกุฎ มีการรวบรวมคัมภีร์แพทย์รักษาโรค รวบรวมตำรายาทั้งแผนตะวันตกและแผนไทย จากนั้นได้มีพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะ และในพ.ศ. 2485 ได้ตั้งกระทรวงสาธารณสุขขึ้น ในรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งหน่วยแพทย์เพื่อให้บริการแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร เช่น แพทย์หลวงเคลื่อนที่พระราชทาน หน่วยแพทย์พระราชทาน หน่วยจักษุแพทย์พระราชทาน หน่วยแขน – ขา เทียมพระราชทาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังพระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่ผู้ประสบสาธารณภัย ให้มีการตั้งมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ รวมถึงให้มีการพัฒนาการรักษา ควบคุมป้องกันโรคต่างๆ เช่น วัณโรค โรคเรื้อน อหิวาตกโรค นอกจากนี้ยังมีการแพทย์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เช่น สาธารณสุขมูลฐาน การขาดสารไอโอดีน เป็นต้น ทั้งนี้ศาสตราจารย์นายแพทย์เกษมได้ยกตัวอย่างพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อพ.ศ. 2511 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ใจความว่า “ในการที่ท่านทั้งหลายออกไปประกอบการงานในการแพทย์ต่อไปนั้น ให้ถือว่างานของท่านมีส่วนผูกพัน รับผิดชอบต่อประชาชนส่วนรวม และต่อความเจริญของการแพทย์ไทยอย่างแน่นแฟ้น ท่านจะต้องตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยเต็มความสามารถด้วยความเสียสละและด้วยอุดมคติ พร้อมกับพยายามศึกษาหาความรู้และความเจริญก้าวหน้า ขอระลึกไว้เป็นนิจว่าจรรยาแพทย์เป็นวินัยที่มิได้มีการบังคับให้ทำตาม แต่ท่านต้องบังคับตัวของท่านเองให้ปฏิบัติตามให้ได้และหากเมื่อใดท่านละเมิดจรรยาแพทย์เมื่อนั้นจะเกิดความเสื่อมเสียแก่ตัว แก่การแพทย์และแก่ประเทศชาติในที่สุด”ซึ่งพระราชดำรินี้สามารถที่จะปรับใช้กับการทำงานของชาวสาธารณสุขได้ นอกจากนี้ยังมีการอภิปราย เรื่อง“ความต้องการครั้งสุดท้ายของชีวิต สิทธิปฏิเสธการรักษา” โดยคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง “ภาคีร่วมใจปกป้องเด็กไทย ไม่ท้องก่อนวัย”โดยกรมอนามัย เรื่อง “ความพร้อมรับสถานการณ์โรคอุบัติใหม่”โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เรื่อง “จังหวัดใดสุขกว่าใคร”และ “ไอคิวทำอย่างไรให้ได้เกิน 100” โดยกรมสุขภาพจิต เรื่อง “อำเภอควบคุมโรค”โดยกรมควบคุมโรค และเรื่อง “การพัฒนาระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ที่เหมาะสมและเท่าเทียม” โดยกรมการแพทย์ ******************************** 7 กันยายน 2554


   
   


View 12    07/09/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ