“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันยังไม่พบผู้ป่วยผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย มาเกือบ 5 ปีแล้ว กำชับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในคนต่อเนื่อง เผยขณะนี้ไทยยังไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยาต้านไวรัส “โอเซลทามิเวียร์” แนะประชาชนหากมีไข้หลังสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบพบแพทย์ตรวจรักษา
จากกรณีที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ(FAO) ได้เตือนประเทศต่างๆให้เฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกหรือเชื้อไวรัสเอช 5 เอ็น 1 (H5N1) ที่มีการกลายพันธุ์ในจีนและเวียดนาม และมีปัญหาเชื้อดื้อยา และวัคซีน อาจเกิดการแพร่ระบาดในแถบเอเชียและประเทศอื่นๆ ในช่วงฤดูหนาว ซึ่งไทยอาจเสี่ยงได้รับผลกระทบจากการระบาดโรคดังกล่าวจากประเทศเวียดนามและกัมพูชาได้
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว วันนี้ (30 สิงหาคม 2554) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ยังไม่พบมีสัตว์ปีกและคนติดเชื้อไข้หวัดนกติดต่อกันมาเกือบ 5 ปีแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความไม่ประมาท และขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝนจะต่อฤดูหนาว สภาพอากาศเย็น ได้ให้กรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและเครือข่ายทีมเฝ้าระวังสอบสวนโรคในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศอย่างใกล้ชิดและสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังการเจ็บป่วยในคนร่วมกับเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ที่เฝ้าระวังสัตว์ปีกต่อเนื่อง
ด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า ปัญหาเชื้อไวรัสไข้หวัดนกดื้อยา ที่องค์การเอฟเอโอเป็นห่วงนั้น ในประเทศไทยยังไม่มีปัญหาแต่อย่างใด ซึ่งเชื้อไวรัสโดยธรรมชาติจะมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ได้ตามปกติอยู่แล้ว ยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ ที่กระทรวงสาธารณสุขไทย เคยใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดนกเมื่อ 5 ปีก่อน และใช้รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ ยังใช้ได้ผลดี อย่างไรก็ตาม ขอแนะนำให้ประชาชนป้องกันโรคไข้หวัดนกไว้ก่อน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่าใช้มือเปล่าสัมผัสซากสัตว์ และห้ามนำซากสัตว์ปีก หรือสัตว์ปีกที่มีกำลังป่วย เช่น มีอาการซึมหงอย ขนฟู เหนียงบวมคล้ำ มีน้ำมูกหรือขี้ไหล มาชำแหละเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด ขอให้นึกถึงสัตว์ปีกอาจป่วยเป็นไข้หวัดนก ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ และหากประชาชนมีอาการไข้หลังสัมผัสสัตว์ปีกทุกชนิด ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกให้แพทย์ทราบ เพื่อการรักษาที่รวดเร็วและได้ผล
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนก ในปี 2554 ล่าสุดองค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2554 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโรคไข้หวัดนก 9 ราย ใน 3 ประเทศ ทุกรายมีประวัติสัมผัสสัตว์ปีก ประกอบด้วย อียิปต์ 7 ราย เสียชีวิต 5 ราย อินโดนีเซีย 1 ราย รักษาหายเป็นปกติ และกัมพูชา 1 ราย เสียชีวิต โดยยอดผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกทั่วโลกตั้งแต่พ.ศ.2546 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2554 มีผู้ป่วยยืนยันรวมทั้งหมด 562 ราย เสียชีวิต 329 ราย ใน 15 ประเทศ