รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงเด็กเล็กป่วยเป็นโรค มือ เท้า ปาก ปีนี้พบป่วยแล้วกว่า 7,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิต 2 ราย ชี้แนวโน้มปีนี้สูงขึ้น เร่งขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ กรุงเทพมหานคร และให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนิน 4 มาตรการเข้มข้นเฝ้าระวังโรค หากพบมีการระบาด ให้รีบสอบสวนและควบคุมการแพร่กระจายโรคภายใน 24 ชั่วโมง แนะประชาชนหากมีบุตรหลานป่วย มีไข้ ไอ หอบ มีแผลในปากหรือผื่นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า บางรายอาจมีแค่แผลในปากหรือตุ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าเพียงอย่างเดียว ให้รีบพบแพทย์

                    นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีความเป็นห่วงสุขภาพเด็ก เนื่องจากในช่วงฤดูฝน จะทำให้เด็กเจ็บป่วยง่ายเช่นโรคไข้เลือดออก และยังมีโรคมือเท้าปาก ซึ่งหากมีเด็กป่วยแล้ว หากควบคุมป้องกันไม่ดี จะทำให้เกิดการระบาดได้ง่าย ในปีนี้ได้รับรายงานว่าโรคมือเท้าปากในเด็ก มีแนวโน้มจะป่วยมากขึ้น จึงขอให้ผู้ปกครองดูแลสุขภาพเด็กเล็กให้ใกล้ชิดเป็นพิเศษ ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ให้ความสำคัญกับโรคนี้ด้วย

                   ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease ) มีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเทอโร(Enterovirouses) เป็นโรคที่พบได้ทุกปี พบได้ทั่วโลก เชื้อนี้จะอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระของผู้ติดเชื้อ หรือน้ำในตุ่มพุพองหรือแผลของผู้ป่วย ติดต่อกันโดยการกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อที่ติดมากับมือ ส่วนใหญ่มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และอาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่พักฟื้นที่บ้านอาการจะหายได้เอง แต่อย่างไรก็ตามในบางปีจะพบเชื้อที่รุนแรงทำให้เกิดการเสียชีวิตได้

                  จากการติดตามสถานการณ์โรคมือ เท้า ปากในประเทศไทยในปี 2554 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม–10 สิงหาคม พบผู้ป่วยทั่วประเทศ จำนวน 7,238 ราย เสียชีวิต 2 ราย โดยจำนวนผู้ป่วยเริ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2554 ผู้ป่วยร้อยละ 94 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบการระบาดในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล โดย 5 จังหวัดที่พบโรคดังกล่าวสูงสุด ได้แก่ สมุทรสงคราม เชียงราย ราชบุรี สระบุรี และระยอง ทั้งนี้เชื้อที่ตรวจพบในปีนี้เป็นเชื้อที่มีความรุนแรงพอสมควร

                  นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันเฝ้าระวังโรคดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือขอความร่วมมือกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล และโรงเรียนประถมศึกษา และสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคอย่างเข้มแข็ง เมื่อพบผู้ป่วย ให้รีบดำเนินการสอบสวนโรคทันที เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้โรคแพร่ระบาดสู่เด็กรายอื่น

                  นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อไปอีกว่า หากพบว่าเป็นเชื้อโรคมือเท้าปากชนิดรุนแรงคือเชื้อไวรัสสายพันธุ์เอนเทอโร 71(Enterovirus 71) ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ขอให้เพิ่ม 4 มาตรการเข้มข้น คือ 1.แจ้งให้สถานบริการสาธารณสุขทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยในพื้นที่เป็นพิเศษ และประเมินสถานการณ์รายวัน 2.เร่งให้ความรู้ประชาชน และเร่งรัดมาตรการสุขาภิบาลในสถานเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถมทุกแห่ง ศูนย์การค้าที่มีเครื่องเล่น โดยให้มีการทำความสะอาดพื้น ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ ห้องส้วม อุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารและแก้วน้ำ

                  3.หากพบผู้ป่วยรายแรกในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาด เช่นสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียนอนุบาล ให้รีบสอบสวนและควบคุมโรค พร้อมทั้งเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และ4.กำชับแพทย์ในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนระมัดระวังภาวะแทรกซ้อนรุนแรงของโรค เช่น ปอดบวมน้ำในเด็กเล็ก .

                  ทั้งนี้ในกรณีพบว่ามีเด็กนักเรียนป่วยด้วยโรคดังกล่าวจากเชื้อชนิดรุนแรงในชั้นเรียนมากกว่า 2 ราย ให้ปิดชั้นเรียนหรือหากมีการระบาดของโรคให้ปิดโรงเรียนเป็นเวลา 5 วัน และให้ทำความสะอาดโรงเรียน รวมถึงทำความสะอาดอุปกรณ์รับประทานอาหาร ของเล่นเด็ก ห้องน้ำ สระว่ายน้ำด้วย นอกจากนี้หากพบเด็กที่มีอาการไข้ ไอ หรือมีอาการป่วยคล้ายโรคมือ เท้า ปาก ให้รีบพาไปพบแพทย์ และหยุดเรียนอยู่กับบ้าน งดเล่นกับเด็กอื่นในชุมชนอย่างน้อย 1 สัปดาห์ นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวในที่สุด

                   ด้านนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือเท้าปาก หลังติดเชื้อ 3-5 วัน จะมีอาการไข้ อ่อนเพลีย เบื่ออาหารร่วมด้วย หลังจากนั้น 1-2 วันจะมีน้ำมูก เจ็บปาก เจ็บคอ ไม่ยอมดูดนม ไม่อยากกินอาหาร เด็กเล็กอาจร้องงอแง เมื่อตรวจดูในปากจะพบจุดนูนแดงๆ หรือมีน้ำใสอยู่ข้างใต้ขึ้นตามเยื่อบุปาก ลิ้นและเหงือก ต่อมาจะแตกกลายเป็นแผลตื้นๆ เจ็บมาก ในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็จะมีผื่นขึ้นที่มือและเท้า บางคนขึ้นในฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือแก้มก้น และกลายเป็นตุ่มน้ำเล็กๆตามมา ส่วนใหญ่มักไม่คัน ไม่เจ็บ อาการไข้มักเป็นอยู่ 3-4 วันก็ทุเลาไปเอง ส่วนแผลในปากมักจะหายได้เองภายใน 7 วัน และตุ่มน้ำที่มือและเท้าจะหายได้เองภายใน 10 วัน ในรายที่เป็นรุนแรง ซึ่งพบเป็นส่วนน้อย อาจมีอาการปวดศีรษะมาก อาเจียนรุนแรง ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง หรือหายใจหอบเหนื่อย

                    จากการติดตามสถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก ในประเทศแถบเอเชียในปี 2554 พบที่ประเทศเวียดนาม มีผู้ป่วยแล้วกว่า 23,000 ราย เสียชีวิต 70 ราย โดยเพิ่มขึ้นจากในอดีตซึ่งมีผู้ป่วยประมาณปีละ 10,000 – 15,000 รายและเสียชีวิตเพียงปีละ 20 – 30 ราย

                                                                                                               ***************** 21 สิงหาคม 2554



   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ