รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงพื้นที่น้ำท่วมขังนานเป็นเดือน เน้นนโยบายให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปให้การดูแลสุขภาพทั้งกายและใจผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่   โดยเฉพาะสถานบริการ 70 แห่งในพื้นที่เสี่ยง 6 จังหวัดราบลุ่มเจ้าพระยา ให้เตรียมแผนรองรับเต็มที่ จนถึงขณะนี้มีผู้เจ็บป่วย 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า และพบผู้ประสบภัยมีความเครียด ซึมเศร้า รวม 751 ราย กำชับทุกจังหวัดเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาดหลังน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง

          นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎร์ในเขตจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้รับรายละเอียดจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ท่านนายอำเภอเกี่ยวกับสถานการณ์ในภาพรวมแล้ว ทราบว่าข้าราชการหน่วยงานของรัฐต่างๆได้เข้าไปช่วย ส่วนความเกี่ยวข้องในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี กระทรวงสาธารณสุขก็ต้องดูในภาพรวมและต้องคุยกับข้าราชการว่ามีรายละเอียดอย่างไร 
                      
นายวิทยากล่าวต่อว่า  ขณะนี้มีน้ำท่วมหลายจังหวัด ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ดูแลสุขภาพประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะจังหวัดที่น้ำท่วมขังนานเป็นเดือน เช่นจังหวัดสุโขทัย พิจิตร ทั้งนี้ได้ทราบจากนายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่าหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปให้การดูแลในพื้นที่ดีอยู่แล้ว และในฐานะรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข จะพยายามเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ โดยขณะนี้ได้รับรายงานยังมีพื้นที่น้ำท่วมขัง 12 จังหวัด อยู่ในภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด และภาคกลาง 2 จังหวัด 
 
          ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการรับมือกับมวลน้ำจากภาคเหนือลงสู่พื้นที่ราบลุ่มเจ้าพระยา ในช่วง 4 วันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมแผนรับมือไว้พร้อมแล้ว โดยมีสถานบริการที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงรวมทั้งหมด 70 แห่ง ใน 6 จังหวัด ประกอบด้วยโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป 4 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 11 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 51 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ 4 แห่ง ได้ให้ปฏิบัติตามแผนที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ 
                                   
ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา รวมทั้งหมด 150 ทีม พบประชาชนเจ็บป่วย 20,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า มีผู้เสียชีวิต 26 ราย สูญหาย 1 ราย ส่วนการดูแลสุขภาพจิตได้จัดส่งทีมสุขภาพจิตเคลื่อนที่ ออกไปให้การดูแลครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมทั้งดูแลครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้ง 26 ราย จากการตรวจประเมินปัญหาสุขภาพจิตในจังหวัดลำพูน จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดเลย พบมีความเครียดและซึมเศร้ารวม 751 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 22 ราย อยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด
 
ขณะนี้ได้ให้ทุกจังหวัดดำเนินการแผนป้องกันโรคระบาดหลังน้ำท่วม ที่สำคัญคือโรคไข้เลือดออก โรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ ให้มีทีมเฝ้าระวังเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วทุกอำเภอ หากพบผู้ป่วยแม้แต่รายเดียว ให้ควบคุมป้องกันไม่ให้ระบาดทันที รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมในการป้องกันโรคต่าง ๆ และจัดเวชภัณฑ์วัสดุการแพทย์ที่ใช้ในการฟื้นฟูความสะอาดสิ่งแวดล้อม เช่น คลอรีน สารส้ม ปูนขาว สารเคมีกำจัดยุงและไข่แมลงวัน จนถึงขณะนี้ยังไม่พบโรคระบาดในพื้นที่น้ำท่วมทุกแห่ง
 ****************      11 สิงหาคม 2554


   
   


View 17    11/08/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ