กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนกินเห็ดป่า ต้องระวังเห็ดพิษ ในปี 2553 พบมีผู้ป่วยจากเห็ดพิษเกือบ 2,000 ราย มากสุดที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเสียชีวิต 13 ราย มากสุดที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ พบสูงสุดถึง 7 ราย ชี้เห็ดทั้งชนิดมีพิษและชนิดกินได้ มีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเห็ดตูมจะแยกยาก การช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ที่กินเห็ดพิษต้องทำให้อาเจียนออกมาให้มากที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย

                   นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ทุก ๆ ปี โดยเฉพาะฤดูฝน ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม จะมีผู้ป่วยหรือผู้เสียชีวิตจากการกินเห็ดพิษเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเห็ดพิษในประเทศไทยมีหลายชนิด ที่สำคัญและที่มีพิษร้ายแรงสุดถึงขั้นเสียชีวิตที่พบได้บ่อยคือเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก หรือเห็ดสะงาก เห็ดไข่ห่าน และเห็ดไข่ตายซาก จากการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคล่าสุด ในปี 2553 มีเหตุเกิดขึ้น 44 ครั้ง มีผู้ป่วยจากการกินเห็ดพิษ 1,965ราย เสียชีวิต 13 ราย พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ ผู้ป่วยเกือบร้อยละ 80 อยู่ในชนบท จังหวัดที่พบมากสุด 5 อันดับแรกคือจังหวัดเลย อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครพนมและมุกดาหาร

                    นายแพทย์สุพรรณ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันปัญหาจากการรับประทานเห็ดพิษ นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องพิษภัยจากการกินเห็ดผ่านสื่อต่างๆ ในท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนที่มีผู้ป่วย อาจพิมพ์ภาพเห็ดพิษชนิดต่าง ๆ ทั้งดอกบานและดอกตูม เผยแพร่ไปในชุมชน และให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสอบสวนโรคในผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตทุกราย และเก็บตัวอย่างเห็ดป่าที่รับประทานเข้าไป ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หาความเป็นพิษ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง

                    นายแพทย์สุพรรณ กล่าวอีกว่า อาการของผู้กินเห็ดพิษ ที่พบส่วนใหญ่ ทุกรายจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อาการที่พบรองลงมาคือ ถ่ายเหลว ปวดท้อง อาการจะเกิดขึ้นหลังกินแล้วประมาณ 20 นาที -24 ชั่วโมง รายที่อาการรุนแรงจะเสียชีวิตได้ภายใน 1-8 วัน ส่วนใหญ่เกิดจากภาวะตับวาย ไตวาย ในการช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น คือต้องทำให้ผู้ป่วยอาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว เพื่อลดการดูดซึมพิษเข้าร่างกาย แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้านทันที

                    ทั้งนี้ เห็ดมีพิษและเห็ดที่กินได้บางชนิดมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก โดยเฉพาะขณะเห็ดยังดอกตูม วิธีสังเกตเห็ดพิษ ในเบื้องต้น เห็ดพิษส่วนใหญ่จะงอกงามในป่า มีลักษณะก้านสูง ลำต้นโป่งพองออกโดยเฉพาะที่ฐาน กับที่วงแหวน เห็นชัดเจน สีผิวของหมวกเห็ดมีหลายสีเช่น สีมะนาวถึงสีส้ม สีขาวถึงสีเหลือง โดยที่ผิวของหมวกเห็ด ส่วนมากจะมีเยื่อหุ้มดอกเห็ดเหลืออยู่ในลักษณะที่ดึงออกได้ หรือเป็นสะเก็ดติดอยู่ ครีบเห็ดแยกออกจากกันชัดเจน มักมีสีขาว บางชนิดสีแดงหรือสีเขียวอมเหลือง สปอร์ใหญ่มีสีขาวหรือสีอ่อน มีลักษณะใส ๆ รูปไข่กว้าง เห็ดพิษแม้จะปรุงสุกแล้ว พิษจะยังอยู่ เนื่องจากความร้อนทำลายไม่ได้ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย จึงไม่ควรบริโภคเห็ดที่ไม่รู้จัก ส่วนเห็ดที่รับประทานได้ ส่วนใหญ่จะเจริญในทุ่งหญ้า ก้านสั้น อ้วนป้อมไม่โป่งพอง ผิวเรียบ ไม่มีสะเก็ด สีผิวของหมวกเห็ดเรียบเป็นสีขาวถึงสีน้ำตาล เรียบจนถึงเส้นใย ดึงออกยาก ครีบแยกออกจากกันได้ ระยะแรกเป็นสีชมพูแล้วเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล

                                      ************************************ 17 กรกฎาคม 2554



   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ