รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตรียมผลักดันกฎหมายสุขภาพจิตใช้ในประเทศไทยฉบับแรก เพื่อคุ้มครองผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตได้เข้าบำบัดรักษาจนหายหรืออยู่ในขั้นไม่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น สร้างความปลอดภัยให้สังคมไทย ชี้ผลสำรวจล่าสุด พบไทยมีผู้ป่วยทางจิตรวมกว่า 7 ล้านคน แต่เข้ารับการบำบัดรักษาไม่ถึงร้อยละ 20 และยังพบผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตขั้นไม่รุนแรงอีกกว่า 12 ล้านคน หากคนกลุ่มนี้ไม่ได้รับคำปรึกษาแก้ไข อาการอาจกำเริบรุนแรง ป่วยมากขึ้นได้ นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังประสบปัญหาขาดการยอมรับผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตหรือผู้ป่วยทางจิต ยังถูกมองว่าเป็นคนบ้า ไม่มองว่าเป็นคนป่วยเหมือนโรคทางกาย จึงทำให้ผู้ป่วยทางจิตจำนวนหนึ่งขาดการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟู บางคนต้องใช้ชีวิตเร่ร่อนตามยถากรรม บทเรียนจากคดีของหมอประกิตเผ่า เป็นสัญญาณชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังขาดความเข้าใจเรื่องผู้ป่วยโรคจิต ซึ่งมีความแตกต่างจากผู้ป่วยโรคทางกายอย่างมาก และมีผลในการกำหนดพฤติกรรมแสดงออกให้เห็น ซึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์อาการผิดปกติจากจิตแพทย์ เพื่อวินิจฉัยโรคและให้การรักษาที่ถูกต้อง ทั้งการควบคุมอาการด้วยยา ควบคู่การบำบัดพฤติกรรม จากข้อมูลการวิจัยเรื่องความชุกของโรคทางจิตเวช เมื่อพ.ศ.2547 โดยสำรวจผู้ที่มีอายุ 15-59 ปี พบว่ามีอัตราการป่วยด้วยโรคทางจิตเวชร้อยละ 10.1 หรือจำนวน 2,670,000 คน แยกดังนี้ผู้ป่วยโรคจิตร้อยละ 1.2 หรือ 320,000 คน โรคอารมณ์แปรปรวนร้อยละ 5.7 หรือ 1,500,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีโรคซึมเศร้าอย่างแรงร้อยละ 3.2 หรือ 850,000 คน โรควิตกกังวลร้อยละ 3.2 หรือ 850,000 คน โรคการใช้สุราไม่ถูกต้อง ร้อยละ 28.5 หรือ 7,777,000 คน แต่ในความเป็นจริงมีผู้ที่มีอาการทางจิตเข้ารักษาในปี 2548 ในสถานพยาบาลจิตเวชทั่วประเทศ 17 แห่งเพียง 1,290,716 ราย ไม่ถึง 1 ใน 5 ของผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยโรคจิตส่วนหนึ่งญาติจะไม่พึ่งการรักษาจากแพทย์ แต่อาจรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น ไสยศาสตร์ เพราะสังคมโดยเฉพาะในชนบทบางแห่ง ยังมีความเชื่อเรื่องผีสาง ผู้ป่วยโรคจิตนี้ส่วนหนึ่งอาจก่อคดีขึ้นเป็นภัยในสังคมได้ ผู้ป่วยโรคจิต 1 ราย ต้องใช้เวลาบำบัดรักษายาวนานเฉลี่ย 82 วัน ยาวกว่าผู้ป่วยทางกาย 20 เท่าตัว เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่มีอาการทางจิตจะเป็นวัยแรงงานขึ้นไปเกือบร้อยเปอร์เซนต์ หากไม่เร่งแก้ไขจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ขณะเดียวกันผลสำรวจสุขภาพจิตประชาชนทั่วประเทศครั้งล่าสุดเมื่อพ.ศ.2546 พบประชาชนมีปัญหาสุขภาพจิตร้อยละ 20 หรือกว่า 12 ล้านคน ที่พบบ่อยคือความเครียด ซึ่งจะต้องได้รับคำปรึกษา เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดความเครียดสะสมจนพัฒนาไปสู่โรคทางจิตได้ ซึ่งสถานการณ์ปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยทางจิตกำลังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาสังคมและประเทศที่เน้นด้านวัตถุ องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคจิตมากถึง 450 ล้านคน และสนับสนุนให้ประเทศทั่วโลก มีกฎหมายสุขภาพจิตบังคับใช้ภายใน 5 ปีนี้ เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย ลดการรังเกียจผู้ป่วย ที่ผ่านมามี 75 ประเทศมีกฎหมายฉบับนี้ใช้แล้ว เช่น มาเลเซีย ออสเตรีย ปากีสถาน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส นายแพทย์มงคลกล่าวต่อไปว่า ในการผลักดันกฎหมายสุขภาพจิตของประเทศไทย ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมสุขภาพจิตดำเนินการจัดทำร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยจุดมุ่งหมายของกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อปกป้องคุ้มครอง ส่งเสริมและปรับปรุงคุณภาพชีวิตและสุขภาพจิตของประชาชน เพื่อเสริมสร้างและคุ้มครองสิทธิผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิตให้ได้รับการบำบัดรักษาให้หายหรือดีขึ้น และเพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยจิตเวช เมื่อมีกฎมายสุขภาพจิตแล้ว จะสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมไทยก้าวไปสู่การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ก่อประโยชน์อย่างน้อย 5 ประการ คือ 1. เป็นการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตได้แนวทางหนึ่ง 2. ป้องกันการเกิดอันตราย ของผู้ป่วยจิตเวชที่อาจมีต่อตนองและผู้อื่น 3. คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคจิตดีขึ้น สามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่อยู่ได้ 4. สังคมไทยมีความปลอดภัยจากการกระทำของผู้ป่วยโรคจิตมากขึ้น และ 5. ผู้ป่วยจิตเวชจะได้รับการคุ้มครองสิทธิต่างๆ ที่พึงได้จากรัฐ เช่น การเข้าถึงบริการ มาตรฐานบริการ เนื่องจากขณะนี้ผู้ป่วยทางจิตจำนวนมาก ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม และป้องกันสุขภาพจิตอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ สาระหลัก ๆ ของร่างกฎหมายสุขภาพจิตมีทั้งหมด 6 หมวด 58 มาตรา หมวดที่ 1 มีคณะกรรมการ 3 ระดับ คือระดับชาติ ระดับเขต และระดับสถานบำบัด มีหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย และการดูแลรักษา หมวดที่ 2 ว่าด้วยสิทธิผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษได้เหมือนผู้ป่วยทั่วไป หมวดที่ 3 ว่าด้วยการบำบัดรักษาทางสุขภาพจิต กำหนดข้อบ่งชี้การบังคับนำผู้ป่วยเข้าบำบัด 2 ประการคือ บุคคลนั้นมีภาวะอันตราย จำเป็นต้องได้รับการบำบัด และบุคคลนั้นขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมรักษา หมวดที่ 4 การอุทรณ์ โดยเฉพาะในรายที่มีความผิดทางอาญาและมีความผิดปกติทางจิต ซึ่งไม่อยู่ในสภาพที่จะสู้คดีได้ หมวดที่ 5 ว่าอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และหมวดที่ 6 ว่าด้วยบทลงโทษผู้ที่แจ้งความเท็จ หรือมีเจตนากลั่นแกล้งให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด


   
   


View 6    13/03/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ