สาธารณสุขจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล จำนวน 5,844 กิโลกรัม มูลค่า 7,419ล้านบาท เผยในปี 2554 นี้ บำบัดผู้ติดยาแล้วกว่า 5 หมื่นคน ที่น่าเป็นห่วงพบเด็กวัยรุ่น 7-17 ปี ใช้สารเสพติดมากขึ้นถึง 129 เท่าตัว ในรอบ 6 ปีมานี้ 

          วันนี้(24 มิถุนายน 2554)นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ทนงสรรค์ สุธาธรรม รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารยา เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 26มิถุนายนทุกปี ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 39 เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
          ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายในวันนี้ มีน้ำหนักรวม 5,844 กิโลกรัม มูลค่า 7,419 ล้านบาท โดยมาจากคลังยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,426.0464897 กิโลกรัมบวก 130 มิลลิลิตร จาก 3,833 คดี ประกอบด้วยยาเสพติด 8 ชนิด ได้แก่ 1.เมทแอมเฟตามีน หรือยาบ้า ประมาณ 22ล้านเม็ด น้ำหนักกว่า 1,997กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 6,657,569,100บาท 2.เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 248กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 620,281,150บาท 3.ยาไอซ์ น้ำหนักกว่า 23กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 64,890,512บาท  4.ยาเอ็กซ์ตาซี หรือ ยาอี ประมาณ 34,171เม็ด น้ำหนักกว่า 8กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 34,171,000บาท 5.โคเคนกว่า 7กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 21,363,840บาท 6.ฝิ่น น้ำหนักกว่า 72กิโลกรัมมูลค่าประมาณ 1,823,692บาท 7.โคเดอีน ปริมาณ 43.168ลิตร น้ำหนักกว่า 56กิโลกรัม มูลค่าประมาณ 107,920บาท และ 8.กัญชาซึ่งมาจากคลังยาเสพติดของกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด น้ำหนัก 3,418.7 กิโลกรัมมูลค่ากว่า 17ล้านบาท    และของกลางที่ไม่ใช่ยาเสพติดอีกจำนวน 12 กิโลกรัมเช่นคีตามีน ซูโดอีเฟดรีน ไดอะซีแพม เฟนเตอมีน เป็นต้น
ในการเผาทำลายยาเสพติดดังกล่าว จะใช้วิธีเผาที่เรียกว่า ไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolyticincineration) ซึ่งเป็นการเผาที่อุณหภูมิสูงมากไม่ต่ำกว่า 850องศาเซลเซียสทำให้โมเลกุลของยาเสพติดทุกชนิด  สลายตัวกลายเป็นผงคาร์บอนในเวลาอันรวดเร็วและไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายหลังการเผาแล้ว จะมีการตรวจผงเถ้าถ่าน เพื่อให้มั่นใจว่าไม่สามารถนำยาเสพติดที่ผ่านการเผาแล้วไปใช้ได้อีก
ในด้านการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ติดสารเสพติดให้โทษ รายงานผลล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553- 4 เมษายน 2554 มีผู้เข้ารับการบำบัด 3 ระบบ รวมทั้งหมด 54,715 คน ได้แก่ระบบสมัครใจเข้ารับการบำบัดเอง 14,780 คน ระบบบังคับบำบัด 33,898 ราย และบำบัดในระบบต้องโทษ 6,037 ราย ผู้ที่เข้ารับการบำบัดเป็นผู้เสพร้อยละ 59 เป็นผู้ติดร้อยละ 38 และเป็นผู้เสพติดอย่างรุนแรงร้อยละ 3 เป็นชายร้อยละ 91 ที่เหลือเป็นหญิง ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุดอันดับ 1 คือ ยาบ้าร้อยละ 83 ส่วนใหญ่ใช้วิธีเสพโดยการสูดดม กลุ่มอาชีพที่ใช้ยาเสพติดมากที่สุดคือรับจ้าง ร้อยละ 44 รองลงมาคือว่างงานร้อยละ 23 เป็นเกษตรกร ร้อยละ 11 นักเรียนร้อยละ 10 รับราชการร้อยละ 0.68                                                                                       
ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ในกลุ่มของผู้ใช้สารเสพติดที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู พบว่า 1 ใน 3 เป็นเยาวชน มีอายุระหว่าง 18-24 ปี จัดว่าเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-29 ปี ร้อยละ 20 โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องคือวัยรุ่นอายุ 7-17 ปี พบว่ามีการใช้สารเสพติดมากขึ้น ในปี 2554 มีเข้ารับบำบัด 6,701 คน หรือร้อยละ 12 ของผู้เข้ารับการบำบัด โดยเพิ่มขึ้น 129 เท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2549 ซึ่งมีเพียง 52 คน หรือร้อยละ 0.09 ของผู้รับบำบัดทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่มีแนวโน้มลดลงคืออายุ 25-39 ปี โดยสถาบันธัญญารักษ์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดสายด่วนให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องยาเสพติดแก่ประชาชน ทางสายด่วน 1165ตลอด 24 ชั่วโมง  
สำหรับในปี 2553 มีผู้ใช้สารเสพติดเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู 164,125 ราย เป็นชายร้อยละ 91 หญิงร้อยละ 9 เป็นผู้เสพร้อยละ 62 ผู้ติดร้อยละ 36 และผู้เสพติดรุนแรง ร้อยละ 3 โดยตัวยาที่ผู้เข้ารับการบำบัดมากที่สุดอันดับ 1 คือ ยาบ้าร้อยละ 83 รองลงมา กัญชาร้อยละ6 สารระเหยร้อยละ4 ตลอดเกือบ 6 ปี ตั้งแต่พ.ศ.2549 จนถึงพ.ศ.2554 มีผู้เสพ/ผู้ติดสารเสพติดได้รับการบำบัดฟื้นฟูไปแล้วรวม 627,562 คน

         *************************************** 24 มิถุนายน 2554



   
   


View 11    24/06/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ