กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารสหรัฐ(AFRIMS) บ.ซาโนฟี-ปาสเตอร์ แห่งประเทศฝรั่งเศส วิจัยวัคซีนไข้เลือดออกระยะที่ 3 ใน ประเทศไทย ชี้หากวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยจะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการควบคุมไข้เลือดออกของทั่วโลก

เช้าวันนี้ ( 26 พฤษภาคม 2554) นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานเปิดสำนักงานโครงการวิจัยไข้เลือดออกโรงพยาบาลบ้านโป่ง และสำนักงานโครงการวิจัยไข้เลือดออกโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี เพื่อใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติงานของคณะเวชศาสตร์เขตร้อนมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหารบกสหรัฐ (AFRIMS) กระทรวงสาธารณสุข และ บ.ซาโนฟี-ปาสเตอร์ แห่งประเทศฝรั่งเศส เพื่อวิจัยวัคซีนไข้เลือดออกในระยะที่ 3 ในประเทศไทย โดยโครงการนี้ เป็นการวิจัยพร้อมกันในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ 5 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไทย ในอาสาสมัครเด็กอายุ 2-14 ปี จำนวน 10,000 คน 
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวว่า การวิจัยแบ่งเป็น 2 ช่วง ดังนี้ ช่วงที่ 1.โครงการซีวายดี 34 (CYD34) เป็นโครงการเฝ้าระวังโรคไข้เดงกี่ ซึ่งยังไม่มีการทดสอบวัคซีนไข้เลือดออก โดยจะทำการศึกษาและติดตามอาการเด็กในพื้นที่ อายุ 2-14 ปี ในอาสาสมัครจำนวน 300-500 คน เป็นเวลา 1 ปี ว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจำนวนกี่รายและศึกษาว่ามีโรคไข้เลือดออกหรือสาเหตุอื่นๆที่ทำให้เกิดไข้ ขึ้นในชุมชนของเด็กมากน้อยเพียงใด ดำเนินการตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2553-มิถุนายน 2554 ในประเทศไทยดำเนินการในโรงพยาบาล 3 แห่ง
และช่วงที่ 2.โครงการซีวายดี 14 (CYD14) เป็นโครงการศึกษาเปรียบเทียบผลของเดงกี่วัคซีนชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการศึกษาถึงประสิทธิผลและความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้ ในอาสาสมัคร 2,000 3,000 คนในโรงพยาบาล 3 แห่งของไทย ระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี ดำเนินการตั้งแต่มีนาคม 2554 -ปลายปี 2557
นายแพทย์ไพจิตร์ กล่าวต่อว่า โรงพยาบาล 3 แห่งของไทยที่เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย โรงพยาบาลกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร โรงพยาบาลบ้านโป่งและโรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี ทั้งนี้ หากวัคซีนนี้มีประสิทธิภาพดีและมีความปลอดภัยก็จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อเด็กไทยและชาวโลก ในการควบคุมไข้เลือดออกให้มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป เพราะโรคไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของทั่วโลก มีการแพร่กระจายไปมากกว่า 100 ประเทศ ประชากรทั่วโลกกว่า 3,000 ล้านคนมีความเสี่ยงติดเชื้อไวรัสเดงกี่  ทั่วโลกมีความพยายามควบคุมโรคนี้ด้วยวัคซีน ซึ่งมีความเป็นไปได้และคุ้มค่ามากที่สุด
 สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ในปี 2554 ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงปัจจุบัน ทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกสะสม 10,820 ราย เสียชีวิต 8ราย คิดเป็นอัตราป่วย 16.24 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยมากที่สุด ภาคกลางจำนวน 6,662 ราย เสียชีวิต 1 ราย รองลงมาภาคใต้พบผู้ป่วย 1,989 ราย เสียชีวิต 3 ราย ภาคเหนือพบผู้ป่วย 1,878ราย เสียชีวิต 2 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบผู้ป่วย 1,291 ราย เสียชีวิต 2 ราย  
******************************************** 26 พฤษภาคม 2554


   
   


View 9    26/05/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ