โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ย้ำเตือนประชาชนให้ระวังภัยอาหารและน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อลดความเสี่ยงป่วยโรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ จากเมนูอาหาร 8 ชนิด อาทิ อาหารปรุงจากกะทิ อาหารกล่อง แนะอาหารทะเลสดให้ปรุงสุก หลีกเลี่ยงวิธีลวก พล่าสุกๆ ดิบๆ ชี้ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ พบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 3 แสนราย เสียชีวิต 16 ราย นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงหยุดฉลองเทศกาลสงกรานต์13-17 เมษายน 2554 นี้ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารและน้ำดื่ม ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ปรุงเองที่บ้าน อาหารสั่งซื้อ หรือการออกไปรับประทานอาหารตามร้านนอกบ้าน ต้องระมัดระวังการเลือกซื้อและบริโภค อาหารที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคระบบทางเดินอาหารเช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคอหิวาต์ โรคบิด และไข้ไทฟอยด์ จะต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ได้แก่เมนูอาหาร 8 ชนิด ได้แก่ 1.อาหารปรุงด้วยกะทิ 2.ขนมจีน 3.อาหารทะเลสด 4.อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ ก้อย ยำ พล่า 5.อาหารถุง อาหารกล่อง อาหารห่อ 6.ส้มตำ 7.อาหารค้างมื้อ และ8.น้ำดื่มและน้ำแข็ง โดยในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ ทั่วประเทศพบผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงแล้ว 3 แสนราย เสียชีวิต 16 ราย นายแพทย์สุพรรณกล่าวต่อว่า เพื่อความปลอดภัยจากโรคระบบทางเดินอาหาร ขอแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติให้เป็นนิสัย 3 ประการ คือให้ “กินอาหารสุกร้อน ใช้ช้อนกลาง และต้องล้างมือเป็นประจำ” สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ขอให้พ่อแม่ดูแลเรื่องการกินอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเด็กวัยนี้นอกจากจะมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำแล้ว ยังดูแลตัวเองไม่เป็น กินและหยิบอาหารเข้าปากแบบไร้เดียงสา ดังนั้นโอกาสติดเชื้อจึงเกิดขึ้นง่าย ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบ ควรกินเฉพาะที่ปรุงสุกใหม่ หากเหลือแล้วไม่ควรเก็บไว้เพราะจะบูดเสียง่าย ส่วนเส้นขนมจีนที่ทำจากแป้งหมักมักจะเสียง่าย ไม่ควรทิ้งค้างคืน ผักสดที่กินกับขนมจีนต้องล้างให้สะอาด ในกลุ่มของอาหารทะเล ขอให้ปรุงสุก ไม่ควรกินแบบลวกหรือพล่าสุกๆ ดิบๆ โดยเฉพาะ กุ้ง หอย ปลาหมึก เช่นเดียวกับอาหารประเภทเนื้อสัตว์ หมู ไก่ และไข่ ส่วนประเภทอาหารถุง อาหารกล่อง หรืออาหารห่อพร้อมบริโภค ในการบรรจุ ควรแยกกับข้าวออกจากข้าว และควรรับประทานภายในไม่เกิน 4-5 ชั่วโมงหลังจากปรุง สำหรับส้มตำซึ่งเป็นอาหารยอดฮิตทุกฤดูกาล แต่ในฤดูร้อนต้องระวังให้มากเป็นพิเศษ เพราะความไม่ปลอดภัยในส้มตำมีมากมาย อาทิ ปลาร้า ปูดองดิบหรือต้มไม่สุก มะละกอดิบ ผักดิบแกล้ม พริกขี้หนูที่ล้างไม่สะอาดหรือไม่ได้ล้าง ย่อมมีเชื้อโรคและสารเคมีตกค้าง ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ หากแม่ค้าที่ไม่ใส่ใจความสะอาดและขาดสุขนิสัยที่ดี ล้วนนำมาซึ่งสารพัดโรคได้ สุดท้ายคือเรื่องน้ำดื่มและน้ำแข็ง ขอให้ดื่มน้ำบรรจุขวดที่มีเครื่องหมายอย.รับรอง และเลือกขวดที่มีฝาปิดสนิท ส่วนน้ำแข็งควรเลือกชนิดบรรจุถุงที่มีเครื่องหมาย อย. และขอความร่วมมือผู้ประกอบการร้านอาหาร ไม่ควรนำอาหารอื่นไปแช่ในถังน้ำแข็งที่ให้ลูกค้ากิน เพราะจะทำให้น้ำแข็งปนเปื้อนเชื้อโรคได้ นายแพทย์มานิตกล่าว ****************** 15 เมษายน 2554


   
   


View 13    15/04/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ