วันนี้ ( 6 เมษายน 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในภาคใต้ ว่า วันนี้ระดับน้ำลดลงทุกจังหวัดเริ่มคลี่คลายเข้าสู่ระยะฟื้นฟู ยกเว้นจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รายงาน ในเบื้องต้นมีจำนวนผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 54 ราย สูญหาย 1 ราย ได้แก่ นครศรีธรรมราช 22 ราย สุราษฎร์ธานี 10 ราย พัทลุง 6 ราย กระบี่ 10ราย ตรัง 2 ราย ชุมพร 2 ราย และพังงา 1 ราย ในจำนวนผู้เสียชีวิต มี อสม. 1 ราย
ผลการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม- 5 เมษายน 2554 ออกหน่วย 1,829 ครั้ง มีผู้รับบริการรวม 50,532 ราย เฉพาะวันที่ 5 เมษายนวันเดียว ออกหน่วย 109 ครั้ง มีผู้มารับบริการ 12,318 ราย ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้าร้อยละ 40 รองลง โรคระบบทางเดินหายใจร้อยละ 27 ปวดเมื่อย ร้อยละ 18 ผิวหนังอักเสบ ร้อยละ 9 ผิวหนังผื่นคันร้อยละ 7 ด้านการเยียวยาด้านจิตใจประชาชนผู้ประสบอุทกภัยรวม 603 ราย ให้ยาทางจิต 108 ราย ประเมินความเครียด 331 ราย พบว่ามีความเครียดสูง 56 ราย ซึมเศร้า 87 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 42 ราย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมแพทย์จากส่วนกลางเสริมทีมแพทย์ของพื้นที่ให้บริการในพื้นที่ประชาชนสัญจรลำบาก ดังนี้ รพ.พระนครศรีอยุธยา บริการที่วัดน้ำหัก ม.4 ต.น้ำหัก อ.คีรีรัฐนิคม รพ.พระพุทธบาทสระบุรี ที่วัดอินทราวาส ต.กะเปา อ.คีรีรัฐนิคม รพ.สระบุรี ที่ศูนย์ผู้สูงอายุ ต.ท่าสะท้อน อ.พุนพิน รพ.ปทุมธานีที่วัดรัษฎาราม ต.บางงอน อ.พุนพิน รพ.พระนั่งเกล้าที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 ต.เสวียด อ.ท่าฉาง รพ.ทักษิน ที่วัดวังไทร ต.ป่าร่อน อ.กาญจนดิษฐ์ และในวันนี้ส่งทีมแพทย์เพิ่มอีก 4 ทีมจากรพ.โพธาราม รพ.ราชบุรี จ.ราชบุรี รพ.เจ้าพระยายมราช รพ.สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17จ.สุพรรณบุรี ส่วนทีมแพทย์เมื่อวานนี้ที่ส่งไป จากรพ.มะการักษ์และรพ.พหลพลพยุหเสนา เดินทางถึง อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราชแล้ว
การสนับสนุนด้านเวชภัณฑ์ เมื่อวานนี้ ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งยาชุดน้ำท่วม 30,000 ชุดและยาแก้น้ำกัดเท้า 20,000 ชุด ให้จ.นครศรีธรรมราช พัทลุงส่งยาชุดน้ำท่วม 5,000 ชุดและยาแก้น้ำกัดเท้า 10,000 ชุด ตรังยาชุดน้ำท่วม 10,000 ชุด รวมสนับสนุน ยาชุดน้ำท่วมทั้งหมด 229,000 ชุด และยาแก้น้ำกัดเท้า 70,000 ชุด ส่วนบริการส่งต่อผู้ป่วยฉุกเฉิน ทางเฮลิคอปเตอร์
สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมตำรวจ และรพ.กรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม - 5 เมษายน 2554 รวม 24 เที่ยวบิน ผู้ป่วย 28 ราย
นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแผนการฟื้นฟูสภาพโรงพยาบาล มีอยู่ 2 แผน คือ1. แผนฟื้นฟูในภาพรวม ที่ได้สั่งการให้โรงพยาบาลที่เสี่ยงน้ำท่วมเตรียมแผนรองรับ 4 แผน ได้แก่ แผนป้องกันน้ำท่วมสถานพยาบาล แผนสำรองยาและเวชภัณฑ์ แผนปรับระบบการส่งต่อกรณีน้ำท่วมรับส่งต่อไม่ได้และแผนปรับระบบบริการ 4 มุมเมืองกรณีน้ำท่วมเปิดให้บริการไม่ได้ โดยทุกโรงพยาบาลต้องไปดูมาตรการในการป้องกันน้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ว่าจะปรับปรุงทำผนังกั้นน้ำ หรือยกระดับพื้นที่ภายในโรงพยาบาลและทำระบบระบายน้ำในลักษณะอย่างไร ซึ่งได้สั่งการไปตั้งแต่ครั้งน้ำท่วมที่ภาคอีสานและภาคกลางแล้ว
2.แผนฟื้นฟูเฉพาะ ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของแต่ละโรงพยาบาล ซึ่งมีสภาพแตกต่างกัน เช่นรพ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีพื้นที่ลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ถนนและพื้นที่รอบๆสูงกว่าโรงพยาบาลทั้งหมด ในอนาคตต้องแก้ปัญหา เช่น การถมพื้นที่ให้สูงเสมอถนน อาคารที่จะสร้างใหม่ต้องวางรากฐานชั้นล่างให้สูงกว่าถนน ซึ่งทุกโรงพยาบาลต้องดูแลทั้ง 2 ส่วน เพื่อแก้ปัญหาในภาพรวมและปัญหาเฉพาะที่ที่มีรายละเอียดต่างกัน
6 เมษายน 2554
View 17
06/04/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ