สาธารณสุขเผย โรคหัวใจและหลอดเลือดคุกคามสุขภาพหนัก เป็นเหตุคนทั่วโลกเสียชีวิตปีละกว่า 17 ล้านคน ส่วนไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ปีละ 35,050 ราย ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลกว่า 6 แสนราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปี จัดรณรงค์ สร้างวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ในครอบครัว กินพอดี ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มกินผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดเหล้า งดบุหรี่ มีวิถีชีวิตที่พอเพียง
วันนี้(4 เมษายน 2554)ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ดร.นพ. ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ แถลงข่าวการจัดรณรงค์“รักษ์หัวใจ ในวิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียง” เพื่อสร้างกระแสการป้องกัน ควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เพื่อให้ประชาชนเข้าใจความรุนแรงของโรค รู้วิธีการปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้สมดุล เนื่องจากโรคดังกล่าวป้องกันได้และมีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สมดุลโดยเริ่มต้นที่ครอบครัวของตนเองและขยายไปยังชุมชนต่อไป
ดร.พรรณสิริกล่าวว่าโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญคือหัวใจ สมอง และที่อวัยวะส่วนปลายเช่นแขนขา มักเกิดในผู้ที่น้ำหนักตัวเกิน คนอ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ขณะนี้กำลังเป็นปัญหาคุกคามสุขภาพและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งทั่วโลก ในปี 2548 มีรายงานผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวประมาณ 17.5 ล้านคน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งร้อยละ82 พบในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เกิดขึ้นในหญิงและชายพอๆกัน คาดว่าในปี 2558 การเสียชีวิตจากโรคนี้จะเพิ่มเป็นเป็น 20 ล้านคนทั่วโลก
สำหรับประเทศไทย พบอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดติดอันดับ 1 ใน 3 มาโดยตลอด ในปี 2552 มีผู้เสียชีวิต 35,050 รายหรือตาย 1คน ทุกๆ 15 นาที มีผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 628,871ราย เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในรอบ 10 ปี แนวโน้มพบในคนอายุน้อยลง สาเหตุที่ทำให้คนไทยเป็นโรคนี้มาก เกิดจากความไม่สมดุลระหว่างการกินกับการออกแรง โดยกินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง แต่กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น เคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง รวมทั้งดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 80 แต่เมื่อป่วยเป็นโรคแล้วจะรักษายากมาก ดังนั้นในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายจะสร้างวัฒนธรรมสุขภาพใหม่ให้คนไทย โดยปรับพฤติกรรมให้กินพอดี ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักผลไม้ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ลดเหล้า งดบุหรี่ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่มีความสมดุล พอดี พอเพียง เพื่อสร้างสุขภาพดี ลดปัญหาการเจ็บป่วย โดยจะรณรงค์ให้ทุกครอบครัว ซึ่งมีประมาณ 20 ล้านครัวเรือน โดยเฉพาะพ่อบ้าน แม่บ้าน เป็นผู้เริ่มต้นในการปรับเปลี่ยน ตั้งแต่การทำกับข้าวกินเอง หรือการเลือกซื้อ ให้เพิ่มอาหารประเภทผัก ผลไม้ให้มากขึ้น ลดอาหารรสหวาน มันเค็ม และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปลอดการสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย มีวิถีชีวิตที่พอเพียง หากครอบครัวใดมีสมาชิกเป็นโรคแล้ว การปรับวิถีชีวิตข้างต้นยังช่วยให้มีคุณภาพชีวิตดีได้
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ในระยะแรกจะไม่มีอาการให้เห็น โรคจะค่อยๆก่อตัว จึงทำให้ผู้เป็นโรคจึงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคแล้ว เมื่อไม่ได้ดูแลรักษาจึงทำให้โรคมีความรุนแรงมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ใช้กลยุทธ์การดำเนินงานเชิงรุก และการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเน้นการสร้างและพัฒนาระบบการเฝ้าระวัง การพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการดำเนินงานในการป้องกันควบคุมโรค การสื่อสารข้อมูลสุขภาพ และสื่อสารความเสี่ยงที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
สำหรับในปีนี้ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรคได้กำหนดจัดรณรงค์สร้างกระแสการป้องกัน ควบคุมโรคหัวใจและหลอดเลือด เน้นในครอบครัวซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคม ซึ่งดำเนินงานการตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยจัดประกวดเรียงความในหัวข้อ “รักษ์หัวใจ ในวิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียง” ในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 โดยเปิดรับสมัครจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2554 จึงขอเชิญชวนและประชาสัมพันธ์ผู้ที่มีบุตรหลานในวัยนี้ ส่งเรียงความเข้าร่วมประกวดด้วย ส่วนกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไปคือ การจัดกิจกรรมรณรงค์"รักษ์หัวใจในวิถีชีวิตครอบครัวไทยที่พอเพียง" ซึ่งจะจัดในวันที่ 22เมษายน 2554ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงาน
*************************************************** 4 เมษายน 2554