“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (31 มีนาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีมอบสัมฤทธิบัตรและมอบโอวาทแก่บัณฑิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท รุ่นที่ 11 ที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2553 จำนวน 413 คน
นายจุรินทร์ กล่าวว่า การผลิตแพทย์ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการยาวนานกว่าร้อยปี เริ่มตั้งแต่มีโรงเรียนแพทยทยากรณ์ เมื่อ พ.ศ. 2432 และมีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ จนถึงปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาผลิตแพทย์ได้ทั้งหมดรวม 18 แห่งปัจจุบันในภาพรวม ประเทศไทยมีแพทย์ทั้งหมด 30,000 คน โดย 10,000 คนอยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข อีก 10,000 คนอยู่สังกัดหน่วยงานอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยแพทย์ เป็นต้น และอีก 10,000 คนอยู่ในภาคเอกชน ปัญหาใหญ่คือปริมาณแพทย์ที่อยู่สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งต้องรับผิดชอบประชากร 40-50 ล้านคนเป็นอย่างต่ำ ทำให้เกิดปัญหาแพทย์ขาดแคลน แพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน ถือว่ายังไม่ได้ตามเกณฑ์องค์การอนามัยโลกที่กำหนดคือ 1 ต่อ 5,000 คน จึงจำเป็นต้องเร่งผลิตแพทย์เพื่อมาสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องให้บริการประชาชนส่วนใหญ่ให้รวดเร็วขึ้น
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ จัดทำโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตบัณฑิตแพทย์ที่มีคุณภาพเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข แก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่ชนบทห่างไกลและพื้นที่เสี่ยง ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้สถาบันการศึกษาเป็นค่าจัดการเรียนการสอนนักศึกษาแพทย์ ปีละ 300,000 บาทต่อคน เริ่มดำเนินการระหว่างพ.ศ. 2538 –พ.ศ. 2556 มีเป้าหมายผลิตแพทย์ทั้งหมด 11,495 คน ปัจจุบันได้รับนักศึกษาเข้าเรียนแล้ว 7,046 คน และสำเร็จการศึกษาแล้วรวม 2,569 คน ซึ่งใน ปี 2554 กระทรวงสาธารณสุขผลิตแพทย์ตามโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท 413 คน ตั้งแต่ปี 2555 เพิ่มเป็น 683 คน คาดว่าภายในอีก 5 ปี สัดส่วนแพทย์ต่อประชากร จะเป็นไปตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลกคือ 1 ต่อ 5,000 คน
ในโอกาสนี้ นายจุรินทร์ ได้มอบโอวาทแก่แพทย์จบใหม่ว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ขอให้ระลึกเสมอว่า ไม่มีที่ใดที่จะลำบากเกินจะอยู่ได้ ยิ่งห่างไกลเท่าใดงานของแพทย์ยิ่งมีความสำคัญกับประชาชนมากขึ้นเท่านั้น และขอให้แพทย์จบใหม่ทุกคนได้เรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม เคารพในความอาวุโส การพัฒนาตนเองด้านภาวะผู้นำ การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์
ทางด้าน นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถาบันที่ร่วมมือผลิตแพทย์ในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบทในปีนี้รวม 7 สถาบันคือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยแพทย์ที่จบครั้งนี้จะเข้าทำงานในโรงพยาบาลตามภูมิลำเนาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2544 เป็นต้นไปและทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลา 3 ปี ได้มอบโอวาทให้แพทย์ปฏิบัติงานด้วยระมัดระวัง รอบคอบ และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้ร่วมงาน ผู้ป่วย ญาติ และประชาชน เพื่อป้องกันปัญหาจริยธรรมทางวิชาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มมากขึ้นเรื่อย ๆ การฟ้องร้องแพทย์มีมากขึ้น
************************************************** 31 มีนาคม 2554