“สมศักดิ์” ยกระดับหมอนวดไทยเชี่ยวชาญพิเศษ 7 กลุ่มอาการ เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย หนุนเศรษฐกิจสุขภาพ
- สำนักสารนิเทศ
- 370 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เร่งเดินหน้าบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 19 พ.ศ. 2553 สร้างพื้นที่ปลอดควันบุหรี่ เผยผลสำรวจติดตามผลการใช้กฏหมายตลอด 8 เดือน พบว่ามีประชาชนร้อยละ 91 เห็นด้วยที่มีการห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะและมีคนละเมิดสูบในที่ห้ามสูบ พบมากสุด 3 อันดับแรกคือ ตลาดสด/ตลาดนัด ป้ายรถเมล์ และสถานบันเทิง
วันนี้ (30 มีนาคม 2554) ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสรุปผลงานการดำเนินงานสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดควันบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์ในประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน จากภาครัฐและเอกชน
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า บุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตทั่วโลก แต่ที่น่าตกใจมากกว่าคือในแต่ละพื้นที่มีคนที่ไม่สูบบุหรี่หลายแสนคน ต้องเสียชีวิตด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ถือได้ว่าควันบุหรี่มือสองเป็นอันตรายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ออกกฎหมาย 2 ฉบับคือ 1.พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ 2.พระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 โดยมีสาระสำคัญมุ่งคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะ ล่าสุดได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 พ.ศ.2553 เพื่อสร้างพื้นที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด ครอบคลุมสถานที่ 5 ประเภท ได้แก่ 1.สถานบริการสาธารณสุข และสถานส่งเสริมสุขภาพทุกประเภท เช่น สถานอบไอน้ำ อบสมุนไพร สปา นวดแผนไทย 2.สถานศึกษาระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 3. สถานที่สาธารณะเช่นตลาด โรงงาน สำนักงาน 4.ยานพาหนะและสถานที่ขนส่งสาธารณะ เช่นแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง และ 5.ศาสนสถาน และกำหนดสถานปลอดบุหรี่ แต่อาจจัดหรือไม่จัดให้มีเขตสูบบุหรี่ก็ได้ มี 4 ประเภทได้แก่ 1.สถานที่ราชการ 2.สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 3. ปั๊มน้ำมัน 4.สนามบินนานาชาติ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 28 มิถุนายน 2553
ดร.พรรณสิริกล่าวอีกว่า จากการติดตามผลการบังคับใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 19 ล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หลังจากประกาศฯมีผลบังคับ 8 เดือน โดย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้สำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 2,479 ตัวอย่าง ใน 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สุโขทัย อุบลราชธานี อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยนาท นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี สุราษฎรธานี สงขลา และกทม. ผลพบว่ากลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 53 รับทราบเกี่ยวกับประกาศดังกล่าว สถานที่สาธารณะที่กลุ่มตัวอย่างรับทราบสูงสุดว่ามีการห้ามสูบบุหรี่ 100 เปอร์เซ็นต์คือ สถานบริการสาธารณสุข ร้อยละ 92 และรับทราบน้อยสุด คือ ตลาดสด/ตลาดนัด ร้อยละ 49
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 91 เห็นด้วยที่มีการห้ามการสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆตามที่กฎหมายกำหนด แต่มีร้อยละ 37 ที่เชื่อว่าการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่สาธารณะต่างๆว่าได้ผล โดยสถานที่สาธารณะที่กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ ที่พบว่ามีการละเมิดการสูบสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดสด/ตลาดนัด ป้ายรถเมล์/ที่พักรอรถ/ท่าเรือ และสถานบันเทิง/ผับ/บาร์/คาราโอเกะ
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า ข้อมูลเหล่านี้เป็นประโยชน์ต่อกระทรวงสาธารณสุข ที่จะนำไปสนับสนุนและผลักดันให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่องต่อไป โดยมุ่งเน้นเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบการเฝ้าระวังที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม ทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ภาคเอกชนไม่หวังผลกำไรหรือเอ็นจีโอ และเครือข่ายภาคประชาชน
*********************** 30 มีนาคม 2554