ใช้แจกเอกสารให้ความรู้ที่สายการบินและบนเครื่องบิน เผยผลตรวจอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น ล่าสุดพบมันเทศจากเกาะฮอนชู 75 กิโลกรัมปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่ระดับไม่เกินมาตรฐาน อายัดและทำลายทิ้งทั้งหมด
วันนี้ (28 มีนาคม 2554) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการเฝ้าระวังผลกระทบและการให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่น ว่า สถานการณ์ในญี่ปุ่นภาพรวมล่าสุดขณะนี้ มีการควบคุมการจำหน่ายอาหารในบางพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ส่วนสถานการณ์ในโรงไฟฟ้ายังไม่ปกติ 100 เปอร์เซ็นต์
สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้จัดตั้งจุดคัดกรองผู้โดยสารขาเข้าที่เดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น มีคนไทยเดินทางเข้ามา 1,200 คน มีผู้มาขอรับคำปรึกษาที่จุดคัดกรอง 334 คน ทั้งหมดนี้อาการปกติ ไม่มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี และกรมสุขภาพจิตให้คำปรึกษาปัญหาด้านสุขภาพจิตทั้งสิ้น 17 ราย ส่วนผู้โดยสารขาออกจากไทยไปประเทศญี่ปุ่น มีผู้ขอรับบริการปรึกษา 157 ราย คือที่สนามบินสุวรรณภูมิ 86 ราย ไม่ได้ให้ไอโอดีนเม็ด เพราะไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยง และที่สนามบินภูเก็ตมีผู้ขอรับบริการ 71 ราย ให้ไอโอดีนเม็ดไปทั้งหมด ซึ่งมีทั้งคนไทย สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การส่งทีมแพทย์ไปช่วยดูแลคนไทยที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ส่งไปแล้ว 2 ชุด ชุดแรกเป็นด้านสุขภาพกาย เดินทางกลับเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 และชุดที่ 2 เป็นด้านสุขภาพจิต จะเดินทางกลับในช่วงบ่ายวันนี้ ส่วนชุดที่ 3 เป็นทีมด้านสุขภาพจิต อยู่ระหว่างการเตรียมการและรอการประสานจากกระทรวงการต่างประเทศ หากมีความจำเป็นก็พร้อมเดินทางทันที สำหรับการปรับระบบการให้บริการที่สนามบิน จะปรับจุดบริการให้คำปรึกษาขาออกไปญี่ปุ่น เป็นการแจกเอกสารคำแนะนำให้สายการบินต่างๆแทนที่จะเป็นจุดแจกไอโอดีนเม็ดเพราะไม่มีความจำเป็นแล้วในช่วงนี้ ส่วนขาเข้าก็จะแจกเอกสารแนะนำการปฏิบัติตัวบนเครื่องบินทุกสายการบิน โดยการให้คำปรึกษา จะใช้ด่านควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข เป็นจุดให้คำปรึกษาที่สนามบินแทนการตั้งจุดบริการ
สำหรับผลการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าจากญี่ปุ่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2554 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2554 ได้ตรวจสอบอาหารทั้งสิ้น 94 ตัวอย่าง ประกอบด้วย ปลาสด 65 ตัวอย่าง หอย 6 ตัวอย่าง กุ้ง 4 ตัวอย่าง ปลาหมึก 6 ตัวอย่าง สาหร่าย 1 ตัวอย่าง มันเทศ 3 ตัวอย่าง แอปเปิ้ล 1 ตัวอย่าง สตรอเบอร์รี่ 4 ตัวอย่าง พลับแห้ง 1 ตัวอย่าง แป้ง 2 ตัวอย่าง ผักกาดดอง 1 ตัวอย่าง ทราบผลการตรวจแล้ว 74 ตัวอย่าง โดยพบมันเทศ 1 ตัวอย่างมีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี 15.25 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม เป็นระดับที่ไม่เกินมาตรฐาน ซึ่งกำหนดไว้ต้องไม่เกิน 100 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม อย่างไรก็ตามสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ระงับการจำหน่ายไว้ก่อน
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า มันเทศที่ตรวจพบการปนเปื้อนมีทั้งหมด 75 กิโลกรัม มาจากจังหวัดอิบารากิ เกาะฮอนชู ซึ่งเป็นจุดที่ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ชะลอการนำเข้ามาก่อนหน้านี้ โดยมันเทศดังกล่าวนำเข้าเมื่อ 23 มีนาคม 2554 ผลตรวจออกวันที่ 24 มีนาคม และอายัดวันที่ 25 มีนาคม โดยอย.จะตรวจซ้ำเพื่อศึกษาว่าปริมาณรังสีจะลดลงหรือไม่ และหารือกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เพื่อทำลายหัวมันเทศดังกล่าว
*************** 28 มีนาคม 2554