จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการผู้ประสบภัย และสำรองยาชุดน้ำท่วม 100,000 ชุด ส่ง 20,000 ชุดช่วยจังหวัดนครศรีธรรมราชวันนี้   ล่าสุด โรงพยาบาลท่าศาลาน้ำลดแล้ว ตั้งจุดให้บริการนอกโรงพยาบาล

          วันนี้ (28 มีนาคม 2554) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดภาคใต้ ว่า ได้รับรายงานจากศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของกระทรวงสาธารณสุข ว่า ขณะนี้มีน้ำท่วม 8 จังหวัด คือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล และสงขลา จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือนครศรีธรรมราช จนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2554 มีผู้เสียชีวิตแล้ว 8 ราย ที่ จ.สุราษฎร์ธานี 1 ราย และที่ จ.นครศรีธรรมราช 7 ราย เป็นชาย 6 ราย และหญิง 1 ราย
สำหรับสถานบริการในสังกัด ได้รับผลกระทบรวม 12 แห่ง ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย สำนักงานสาธารณสุข 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชน 3 แห่งคือโรงพยาบาลท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์และโรงพยาบาลบ้านนาเดิม จ.สุราษฎรธานี   และสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 8 แห่ง โดยที่ จ.ชุมพร 2 แห่ง คือสอ.บ้านควนน้ำท่วม และสอ.ควนสามัคคี อ.สวี ไม้โค่นทับบ้านพัก ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช น้ำท่วมบ้านพักเจ้าหน้าที่ทุกหลัง และท่วมอาคารสำนักงานชั้น 1 ไม่สามารถปฏิบัติงานได้ มีสถานีอนามัยถูกน้ำท่วม 5 แห่ง ที่ สอ.บ้านบางไทร สอ.บ้านบางไทรนนท์ สอ.บ้านบางแรด สอ.บ้านเกาะจาก อ.ปากพนัง และ สอ.บ้านทุ่งนาใหม่ อ.พิปูน  
สำหรับโรงพยาบาลท่าศาลา ในช่วงที่ผ่านมาถูกน้ำท่วมสูงเกิน 1 เมตร อย่างไรก็ตาม ในช่วงเช้าวันนี้ ได้รับรายงานจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชว่าน้ำลดลงแล้ว สามารถกู้ระบบไฟฟ้าและใช้การได้แล้ว ในวันนี้จะสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกได้ในบริเวณโรงพยาบาลที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย 3 แห่งได้แก่ 1.โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ น้ำท่วมสูง 50 เซนติเมตร ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี 2.โรงพยาบาลบ้านนาเดิม บ่อบำบัดน้ำเสียพังเสียหาย และบ่อน้ำประปาน้ำท่วมและ 3.สถานีอนามัยชลคราม น้ำท่วมสูงระดับหน้าอก
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการรองรับปัญหาอุทกภัย กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถานพยาบาลทุก แห่งใน 14 จังหวัดภาคใต้ จัดทำแผน 4 ด้าน คือ 1.แผนป้องกันสถานที่สำคัญของสถานบริการไม่ให้เสียหาย 2.แผนการสำรองทรัพยากร เช่น ออกซิเจน ยาสำคัญ อาหารผู้ป่วย ให้ใช้การได้อย่างน้อย 10 วัน 3.แผนการส่งต่อผู้ป่วย และ 4.แผนการปรับระบบบริการเมื่อน้ำท่วมจนไม่สามารถให้บริการได้ จะต้องปรับระบบการให้บริการให้เหมาะสมต่อไป ขณะนี้ได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองยาชุดน้ำท่วมเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จำนวน 100,000 ชุด เช้าวันนี้ได้ส่งไปให้จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว 20,000 ชุด และได้สั่งการให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงไปสำรวจประเมินความเสียหาย และฟื้นฟูเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ให้กลับมาใช้งานได้โดยเร็วที่สุด
ด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้บริการประชาชนฟรีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราช จัดอย่างน้อยวันละ 20 ทีม ผลการให้บริการเมื่อวานนี้ มีประชาชนเจ็บป่วย ประมาณ 600 คนส่วนใหญ่เป็นไข้หวัด ปวดเมื่อย และบาดเจ็บจากการขนของหนีน้ำ    
 
************************************************ 28 มีนาคม 2554


   
   


View 9    28/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ