นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2554 ว่าด้วยการระบุชื่อ ประเภท ชนิดหรือขนาดบรรจุของสารเคมีหรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นสารระเหย โดยยกเลิกประกาศกระทรวงฯฉบับเดิม 2 ฉบับได้แก่ ฉบับที่ 14 (พ.ศ. 2538) และฉบับที่ 18 (พ.ศ.2541) โดยได้ประกาศควบคุมสารในกลุ่มโวลาไทล์ อัลคิล ไนไตรท์ (Volatile alkyl nitrite) เพิ่มเติมจำนวน 4 รายการ ได้แก่ เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite) ไอโซโพรพิลไนไตรท์ (Isopropyl nitrite) ไซโคลเฮ็กซิลไนไตรท์ (Cyclohexyl nitrite) และเอทิลไนไตรท์ (Ethyl nitrite) เนื่องจากพบมีการนำไปใช้ในทางที่ผิด โดยนำไปสูดดมเพื่อให้ผ่อนคลายอารมณ์ เคลิบเคลิ้ม มีความสุข (recreational use) และใช้กระตุ้นความต้องการทางเพศ (sexual enhancer) ซึ่งการสูดดมสารกลุ่มอัลคิล ไนไตรท์ สร้างผลเสียต่อร่างกาย ทำให้เกิดความผิดปกติแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง เช่นต้อหิน ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ เม็ดเลือดแดงผิดปกติ ภาวะโลหิตจาง ระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติเป็นต้น อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
และเนื่องจากชื่อทางเคมีของสารเคมีที่ควบคุม เป็นสารระเหยที่ระบุไวในประกาศฯเดิม มีลักษณะการเขียนหลากหลายรูปแบบไม่เป็นระบบเดียวกัน เช่นสารเคมีในกลุ่มเอสเตอร์ (Esters) เช่น เอทิลอาซีเตต (Ethyl acetate) มีชื่อทางเคมีที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศฯคือ อะซีติค เอซิด เอทิล เอสเตอร์ (Acetic Acid Ethyl Ester) ส่วนเซลโลโซล์อาซีเตท (Cellosolve acetate) มีชื่อทางเคมีที่ระบุในบัญชีท้ายประกาศฯ คือ 2-เอลท็อกซี่ เอทิล อาซีเตท (2- Ethoxyethyl Acetate) ทั้งที่สารระเหยดังกล่าวเป็นสารเคมีกลุ่มเดียวกัน มีโครงสร้างทางเคมีคล้ายกัน แต่ชื่อทางเคมีที่ระบุในประกาศฯ เขียนในลักษณะแตกต่างกัน ทำให้เกิดความสับสนต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการสืบค้นอ้างอิง ทำความเข้าใจ เป็นต้น และอาจทำให้เกิดปัญหาในการตีความหรือการปฏิบัติตามกฎหมายได้ จึงทบทวนการเรียกชื่อทางเคมีของสารเคมีที่ควบคุมเป็นสารระเหยทั้งหมดที่ได้เคยประกาศกำหนดไปแล้ว ให้เป็นระบบเดียวกับสากล คือไอยูแพค (IUPAC : The International Union of Pure and Applied Chemistry) ซึ่งเป็นการเรียกชื่อทางเคมีที่เป็นยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน
นายบุณย์ธีร์กล่าวต่อว่า ประกาศกระทรวงฯ ดังกล่าว มีผลควบคุมสารเคมีต่างๆ ที่มีสูตรโครงสร้างทางเคมีอย่างเดียวกันให้เป็นสารระเหย มีทั้งหมด 5 กลุ่ม 18 รายการ และ 5 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ 1.กลุ่มอาลิฟาติก ไฮโดรคาร์บอน (Aliphatic hydrocarbon) และอาโรเมติก ไฮโดรคาร์บอน (Aromatic hydrocarbon) สารเคมีในกลุ่มนี้มี 1 ตัวได้แก่ โทลูอีน (Toluene) ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า เมธิลเบนซีน (Methylbenzene) 2.กลุ่มคีโทน (Ketone) มีสารเคมี 3 ตัว ประกอบด้วย อาซีโทน (Acetone) เมทิลเอทิลคีโทน (Methyl ethyl ketone) เมทิลไอโซบิวทิลคีโทน (Methyl isobutyl ketone) 3.กลุ่มเอสเตอร์ (Ester) ประกอบด้วยสารเคมี 5 ตัว ได้แก่เอทิลอาซีเทต (Ethyl acetate) เซลโลโซล์ฟอาซีเทต (Cellosolve acetate) เมทิลอาซีเทต (Methyl acetate) นอร์มาลบิวทิลอาซีเตท (n-Butyl acetate) และเซคัลดารีบิวทิลอาซีเทต (sec - Butyl acetate)
4.กลุ่มโวลาไทล์อัลคิลไนไตรท์ (Volatile alkyl nitrite) ประกอบด้วย สารเคมี 6 ตัว ได้แก่ เอมิลไนไตรท์ (Amyl nitrite) ไซโคลเฮ็กซิลไนไตรท์ (Cyclohexyl nitrite) เอทิลไนไตรท์ (Athyl nitrite) ไอโซบิวทิลไนไตรท์ (Isobutyl nitrite) ไอโซบิวทิลโพรพิลไนไตรท์ (Isopropyl nitrite) และนอร์มาลบิวทิลไนไตรท์ (n-Butyl nitrite) 5.กลุ่มอีเทอร์ (Ether) มีสารเคมีในกลุ่ม 3 ตัว ได้แก่ บิวทิลเซลโลโซล์ฟ (Butyl cellosolve) เซลโลโซล์ฟ (cellosolve) เมทิลเซลโลโซล์ฟ (Methyl cellosolve) และอีก 5 ผลิตภัณฑ์ได้แก่ ทินเนอร์ (Thinners) แลกเกอร์ (Lacquers) กาวอินทรีย์สังเคราะห์ ที่มียางนิโอปรีน (Neoprene based) หรือสารกลุ่มไวนิล (Vinyl resin based) เป็นตัวประสาน รวมทั้งกาวอินทรีย์ธรรมชาติที่มียางสนหรือชันสน ยางธรรมชาติ หรือเซลลูโลส เป็นตัวประสาน และลูกโป่งวิทยาศาสตร์หรือลูกโป่งพลาสติก เป็นสารระเหยด้วย
นายบุณย์ธีร์กล่าวอีกว่า ประกาศฉบับนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันหลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะมีผลบังคับในปลายปี 2554 นี้ โดยผู้ผลิตและผู้นำเข้าสารระเหยที่บรรจุในภาชนะหรือหีบห่อที่มีขนาดบรรจุไม่เกิน 550 มิลลิลิตร หรือ 550 กรัม ก่อนนำออกขาย ต้องจัดให้มีข้อความที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อที่บรรจุเป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (พ.ศ.2538) ออกตามความในพระราชกำหนด ป้องกันการใช้สารระเหยพ.ศ. 2533
************************************************ 12 มีนาคม 2554
View 11
12/03/2554
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ