ปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการให้โรงพยาบาลชายแดนไทย-กัมพูชา เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก ให้   อสม. ร่วมกับปศุสัตว์สำรวจสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ หลังจากที่มีรายงานชาวกัมพูชาที่อยู่ในจังหวัดมันเตียเมียนเจย เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ให้ด่านอาหารและยาที่อรัญประเทศ ห้ามนำเข้าไข่ดิบและสัตว์ปีกมีชีวิต โดยแนะให้ประชาชนกินไข่ เนื้อสัตว์ปีกที่ปรุงสุก 100 เปอร์เซ็นต์  

หลังจากที่งานระบาดวิทยาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระแก้ว ได้รับแจ้งว่าที่ฝั่งประเทศกัมพูชาพบผู้ป่วยยืนยันเป็นไข้หวัดนก H5N1 จำนวน 2ราย เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลมงคลบุรีจ.บันเตียเมียนเจย ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดกับชายแดน จ.สระแก้วโดยผู้ป่วยเป็นแม่ลูกกัน โดยเริ่มป่วยหลังจากกินอาหารที่ทำจากไก่ที่ป่วยตายโดยแม่อายุ 21 ปี ส่วนลูกชายอายุ 11เดือน และได้เสียชีวิตลงแล้วทั้งคู่โดยแม่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 และลูกชายเสียชีวิตเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554     
ความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะที่จังหวัดสระแก้ว ซึ่งมีพรมแดนติดกับจังหวัดบันเตียเมียนเจยของประเทศกัมพูชา เฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น โดยให้ทำการซักประวัติผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดอักเสบที่เข้ารักษาทุกรายว่ามีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีกหรือไม่ โดยเฉพาะปอดอักเสบไม่ทราบสาเหตุ และเข้าโรงพยาบาลคราวละหลายคน ทำการคัดกรองและแยกผู้ป่วย เพื่อให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากขณะนี้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่งมียาต้านไวรัสรักษาอยู่แล้ว 
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ได้กำชับให้ด่านอาหารและยา ที่อำเภออรัญประเทศ ห้ามนำเข้าอาหาร โดยเฉพาะไข่ และสัตว์ปีกที่มีชีวิต และให้อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประสานกับปศุสัตว์ดำเนินการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกไปพร้อมกับในคนด้วย พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชน หากพบสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ อย่าสัมผัสด้วยมือเปล่า และห้ามนำมารับประทานอย่างเด็ดขาด เนื่องจากจะมีโอกาสติดเชื้อได้หากสัตว์ปีกที่ป่วยตายจากเชื้อไข้หวัดนก ขอให้แจ้งอสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที
                ในการป้องกันโรคไข้หวัดนก กระทรวงสาธารณสุข ยังคงมาตรการเฝ้าระวังป้องกันเหมือน 4 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าไทยจะยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ในส่วนของประชาชนขอให้รับประทานอาหารที่ปรุงสุก 100 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะไข่ และเนื้อสัตว์ปีก ให้ล้างมือบ่อยๆ หากมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ไอ อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ทันที
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกได้รายงานสถานการณ์โรคไข้หวัดนกทั่วโลก ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554 ในปี 2554 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 9 ราย เสียชีวิต 4 ราย ใน 2 ประเทศ คือกัมพูชาป่วย 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด และอียิปต์ป่วย 6 ราย เสียชีวิต 1 ราย ยอดสะสมตั้งแต่ พ.ศ.2546-ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนกทั้งหมด 525 ราย เสียชีวิต 310 ราย ใน 15 ประเทศ
 ************************************** 1 มีนาคม 2554


   
   


View 9    01/03/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ