นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยใน โรงพยาบาลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 67 ล้านบาท ว่า ในระหว่างปี 2553-2554 กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ให้สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศเป็นกรณีพิเศษจากงบไทยเข้มแข็ง เพื่อสร้างอาคารหลังใหม่ให้โรงพยาบาล ปรับปรุงโรงพยาบาล ไม่นับรวมงบประมาณประจำปี ซึ่งนับว่าเป็นเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนงานลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีแนวทางการแก้ปัญหา 3 รูปแบบหลักได้แก่ 1. การเพิ่มพื้นที่ให้บริการ เช่นการเปิดหน่วยบริการผู้ป่วยนอก นอกพื้นที่โรงพยาบาล โดยก่อสร้างอาคารขนาดเล็กเพื่อเปิดดำเนินการ 2.การเพิ่มเวลาตรวจผู้ป่วย เช่นบริการตรวจนอกเวลาราชการ ในช่วงเช้า ช่วงเย็น และวันหยุดราชการ และ 3.การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย เช่น โรงพยาบาลระดับใด ควรดูแลผู้เจ็บป่วยแค่ไหนที่ไม่จำเป็นต้องส่งต่อ หรือ ผู้ป่วยที่ส่งไปผ่าตัดที่โรงพยาบาลศูนย์แล้วไม่จำเป็นต้องนอนพักต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ ให้ส่งกลับไปโรงพยาบาลต้นทางเพื่อพักฟื้น เป็นต้น นอกจากนี้ จะพัฒนาโรงพยาบาลชุมชน ให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่ เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ป่วยเข้าไปที่โรงพยาบาลจังหวัด ยกเว้นกรณีโรคที่รักษายาก มีศักยภาพไม่เพียงพอ นายจุรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของบุคลากร จะมีทั้งจัดสรรให้ใหม่และเกลี่ยตามความเหมาะสม ตั้งเป้าภายใน 6 ปี แพทย์จะเพียงพอตามสัดส่วนมาตรฐานสากล และภายในเดือนมีนาคม2554นี้ จะได้ข้อสรุปการพัฒนาโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ให้มีขีดความสามารถเฉพาะทาง โดยจะใช้วิธีรวมพื้นที่เป็นรายภาค คือภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และกำหนดว่าในพื้นที่แต่ละภาคตรงไหน ควรจะเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านใด ซึ่งจะทำให้แต่ละภาคมีความเป็นเลิศเฉพาะทางครบถ้วนภายในพื้นที่ตนเอง ถ้ามีผู้ป่วยก็สามารถส่งต่อไปได้ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีหลักประกันด้านการรักษาที่ดีขึ้น ทำได้จริงและรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องพัฒนาโรงพยาบาลทุกแห่งให้เชี่ยวชาญทุกด้าน ซึ่งจะใช้งบประมาณจำนวนมากและใช้เวลานาน สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่พัฒนายกระดับจากสถานีอนามัยทั้ง 97,500 แห่ง จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2554 นี้ ดังนั้นภายในปีนี้ก็จะไม่มีสถานีอนามัยอีกต่อไป โดยมาตรฐานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนั้นจะดี 4 ประการ ได้แก่ 1.ด้านกายภาพ มีการก่อสร้าง ต่อเติม ปรับปรุงภูมิทัศน์ ทำป้ายใหม่ อาคารใหม่ พร้อมเครื่องมือแพทย์ 2.บุคคลากร มีอย่างน้อย 4 ตำแหน่งไม่รวมลูกจ้างประกอบด้วยผู้อำนวยการ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการสาธารณสุข และสหวิชาชีพ 3.ระบบฐานข้อมูล ครบถ้วน และ4.มีกรรมการพัฒนาโรงพยาบาล มีบุคลากรภายนอกมีส่วนร่วมระดมความคิด ระดมทุนในบริหารและพัฒนาโรงพยาบาล ************************************* 27 กุมภาพันธ์ 2554


   
   


View 10    27/02/2554   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ