สาธารณสุขเผย ขณะนี้ไทยมีผู้ป่วยโรคเรื้อน 688 ราย โดยพบรายใหม่ในปี 2553 เพิ่ม 398 ราย   อายุมากสุด 91 ปี ต่ำสุด 3 ปี โดยผู้ป่วยใหม่มีความพิการร้อยละ 15 เร่งลดพิการ โดยค้นหา รักษาเร็ว เน้นหนัก 3 จังหวัดภาคใต้ ชาวไทยภูเขา แรงงานต่างด้าว พร้อมทั้งจัดโครงการสืบสานพระราชปณิธาน ผ่าตัดแก้ไขความพิการ จากโรคเรื้อนและถ่ายโอนนิคมโรคเรื้อน นำผู้หายป่วยกลับสู่ชุมชนปกติ เฉลิมพระเกียรติในหลวง 84 พรรษา

          วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดกิจกรรมค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ในพื้นที่สูง ที่บ้านนอแล อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้การรักษาให้หายขาด ป้องกันไม่ให้เกิดความพิการ ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนในไทยมีแนวโน้มลดลง       จนถึงขณะนี้ทั่วประเทศมีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษา 688 ราย คิดเป็นอัตราความชุกโรคเรื้อน 0.11 คน ต่อประชากร 10,000 คน ต่ำกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลก โดยมี 6 อำเภอใน 4 จังหวัด ที่ยังพบอัตราความชุกมากกว่า 1 คนต่อประชากร 10,000 คน ได้แก่ อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ,อ.เมยวดี จ.ร้อยเอ็ด, อ.กะพ้อ และอ.สายบุรี จ.ปัตตานี,และอ.ระแงะ อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส   ในปี 2553 พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นคนไทย 398 ราย อายุมากที่สุด 91 ปี และพบเป็นเด็ก 26 คน อายุต่ำสุด 3 ปี ในจำนวนผู้ป่วยใหม่ทั้งหมดมีพิการ 61 ราย คิดเป็นร้อยละ 15   รวมทั้งพบผู้ป่วยใหม่ที่เป็นต่างชาติด้วย 41 ราย ส่วนใหญ่เป็นพม่า 

          สำหรับที่อำเภอฝาง ในอดีตมีผู้ป่วยโรคนี้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านนอแล ในปี 2543พบผู้ป่วยจำนวน 6 ราย จากผู้ป่วยในอำเภอฝางทั้งหมด 8 ราย จนถึงปี 2551 บ้านนอแลมีผู้ป่วยทั้งหมด 16 ราย ซึ่งได้รับการรักษาจนหายขาด   ขณะนี้อำเภอฝางมีผู้ป่วยโรคเรื้อนที่อยู่ระหว่างการรักษา 1 รายเท่านั้น

          ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า แม้ว่าอัตราผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่จะลดลง แต่ผู้ป่วยและครอบครัวยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญคือความพิการ ปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และจิตใจเนื่องจากถูกรังเกียจ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันราชประชาสมาสัย ได้รณรงค์ให้ค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการ เพื่อนำเข้าสู่การรักษาที่รวดเร็วและลดความพิการของผู้ป่วยฟรี ตั้งเป้าหมายจะลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ที่พิการลงให้ได้หนึ่งในสามของจำนวนผู้ป่วยใหม่ที่พิการในปี 2553 หรือไม่เกิน 41 ราย ภายในปี 2558

          ประการสำคัญ ในปีนี้ ซึ่งเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554  กระทรวงสาธารณสุขได้จัดโครงการราชประชาสมาสัยสืบสานพระราชปณิธาน งานฟื้นฟูสภาพผู้ประสบปัญหาจากโรคเรื้อนเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว   ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานพระราชดำริและเงินทุนจากมูลนิธิอานันทมหิดล ก่อสร้างอาคารวิจัยและฝึกอบรม และพระราชทานนามว่า ราชประชาสมาสัย จนสามารถแก้ไขปัญหาโรคเรื้อนของไทยจนประสบผลสำเร็จเป็นแบบอย่างของโลก   โดยจะมีการถ่ายโอนนิคมโรคเรื้อนปราสาท จังหวัดสุรินทร์ให้เป็นชุมชนปกติ เพื่อนำผู้ที่หายป่วยแล้วกลับสู่ชุมชน  และบริการผ่าตัดแก้ไขปัญหาความพิการจากโรคเรื้อน ฟรี ได้แก่ การผ่าตัดตาต้อกระจกและใส่เลนซ์แก้วตาเทียม 40 ราย ผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา 5 ราย และผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม 15 ราย เริ่มตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไปจนถึงสิ้นเดือนธันวาคม 2554      

ทางด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ในการค้นหาผู้ป่วยโรคเรื้อนรายใหม่ จะร่วมมือกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) องค์ท้องถิ่น แกนนำชุมชน และอาสาสมัครต่างๆเน้นหนักที่ 3 จังหวัดภาคใต้ ชาวไทยภูเขา พื้นที่ที่มีความชุกของโรคสูง และกลุ่มแรงงานต่างด้าว เพื่อค้นหาผู้ป่วยที่ยังไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคเรื้อนให้ได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้เกิดความพิการ ลดความรังเกียจในชุมชน รวมทั้งสนับสนุนการกำจัดโรคเรื้อนอย่างยั่งยืนให้โรคเรื้อนหมดไปจากประเทศไทย ตามแนวพระราชดำริและพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ทั้งนี้ โรคเรื้อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโครแบคทีเรียม เลปเปร (Mycobacterium leprae)เป็นโรคผิวหนัง ติดต่อ ทางการสัมผัสเป็นเวลานาน การหายใจ  เชื้อจะเข้าไปทำลายเส้นประสาทส่วนปลายและเยื่อบุท่อทางเดินหายใจส่วนบน หากไม่รักษา อาจทำให้พิการ แต่ถ้าหากได้รับการรักษาเร็วตั้งแต่เริ่มแรก จะหายขาด และไม่พิการ

อาการเริ่มแรกของโรคนี้จะเป็นรอยโรคสีจางกว่าผิวหนังปกติ อาจพบขนร่วง เหงื่อไม่ออก ที่สำคัญคือในรอยโรคผิวหนังเหล่านี้จะมีอาการชา หยิกไม่เจ็บ โรคเรื้อนชนิดที่เป็นมาก จะมีผื่นนูนหนา หรือมีตุ่มขึ้นทั้งตัว โดยเฉพาะที่ใบหูจะนูนหนา อาจมีขนคิ้วร่วง ไม่ว่าผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่เป็นมากแล้วก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดเลย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยชะล่าใจ คิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงจึงไม่รีบมารับการรักษา

โรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ผู้ป่วยชนิดเชื้อน้อยใช้เวลารักษาเพียง 6 เดือนผู้ป่วยเชื้อมากใช้เวลารักษา 2 ปี หากผู้ป่วยรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่พบอาการระยะเริ่มแรก จะได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสามารถป้องกันความพิการที่อาจเกิดขึ้นกับอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตา มือ และเท้าได้ ดังนั้น ประชาชนทุกคนควรหมั่นดูแลผิวหนัง ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่ไม่คันและรักษาไม่หายภายในเวลา 3 เดือน ให้สงสัยไว้ก่อนว่าจะเป็นโรคเรื้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการชาร่วมด้วย ให้รีบไปพบแพทย์ที่สถานบริการใกล้บ้านท่าน เพื่อรับการรักษา

      ***************************          8 กุมภาพันธ์ 2554



   
   


View 6       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ