สาธารณสุข ออกสมุดปกขาวชี้แจงเหตุผลการใช้สิทธิโดยรัฐของสิทธิบัตรยาเอดส์-หัวใจ 3 รายการ จำนวน 5,000 เล่ม ไขข้อสงสัย 10 ประเด็น ยืนยันดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมาย และความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ให้คนไทยได้ใช้ยาคุณภาพดี ราคายุติธรรม ไม่มีผลกระทบต่อธุรกิจยา ประชาชนที่สนใจขอรับได้ที่สนง.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทั้ง 12 แห่งทั่วประเทศ หรือดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2550) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารองค์การเภสัชกรรม นายแพทย์ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว การจัดทำสมุดปกขาว ชี้แจงเรื่องการใช้สิทธิโดยรัฐของสิทธิบัตรยาเอดส์-หัวใจ 3 รายการของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มงคล กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดทำสมุดปกขาว เพื่อให้ข้อมูลข้อเท็จจริง คลายข้อข้องใจเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องสิทธิบัตรยาและผลกระทบที่หลายฝ่ายเป็นห่วง รวมทั้งหมด 10 ประเด็น หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐของสิทธิบัตรยา เพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสได้รับยาจำเป็นทั้ง 3 รายการ คือเอฟาวิเรนซ์(Efavirenz) ยาโคลพิโดเกรล(Clopidogrel) และยาโลพินาเวียร์+ริโทนาเวียร์ (Lopinavir+Ritonavir) โดยสาระในสมุดปกขาวมีความหนา 80 หน้า จัดพิมพ์จำนวน 5,000 เล่ม เพื่อแจกจ่ายประชาชนทั่วไปที่สนใจ สามารถขอรับได้ที่สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาในภูมิภาค 12 แห่งทั่วประเทศ หรือดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และเว็บไซต์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ www.nhso.go.th ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอยืนยันว่ามาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ปฏิบัติตามหลักกฎหมายสากล คือข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาหรือทริปส์ในมาตรา 31(บี) และตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตรของไทยมาตรา 51 ซึ่งถูกหลักมนุษยธรรม เป็นไปตามหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องจัดหายาจำเป็นตามบัญชียาหลักแห่งชาติให้คนไทยทุกคนที่ใช้สิทธิ์ตามนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่เพื่อการค้าใด ๆ ซึ่งในปีงบประมาณ 2550 นี้ งบประมาณด้านสาธารณสุขรวมกันถึงประมาณ 170,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12 ของงบประมาณทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นงบเพื่อการรักษาผู้ป่วยเอดส์กว่า 3,800 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากยาถือเป็นสินค้าเชิงคุณธรรม มีความสำคัญต่อชีวิต จึงต้องแยกเงื่อนไขต่างๆ ออกจากสินค้าทั่วไป เพราะสิทธิของมนุษย์ที่ควรจะมีชีวิตอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์เชิงการค้า และไทยมิใช่เป็นประเทศเดียวหรือประเทศแรกในโลกที่ประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ ประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งสหรัฐอเมริกา และยุโรป รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็มีความพยายามในการดำเนินการมานานแล้ว ทั้งด้านยาและสิ่งประดิษฐ์อื่นที่ไม่ใช่ยาด้วย หลายประเทศก็เคยใช้มาแล้ว และจะไม่มีผลกระทบต่อการลงทุนทางธุรกิจด้านยาในประเทศไทย สำหรับสาระสำคัญของสมุดปกขาว 10 ประเด็น ได้แก่ 1. การที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร 3 ชนิดนั้น ทำถูกกฎหมายหรือไม่และมีเหตุผลอย่างไร 2. ทำไมกระทรวงสาธารณสุขจึงไม่เจรจากับบริษัทยาก่อนที่จะประกาศใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการยึดทรัพย์สินของเอกชนมาเป็นของรัฐโดยไม่บอกกล่าวหรือไม่ 3. กระทรวงสาธารณสุขมีกลไก กระบวนการ หลักเกณฑ์อะไร ในการพิจารณาว่ายาที่มีสิทธิบัตรตัวไหนจะประกาศใช้สิทธิโดยรัฐ และในอนาคตจะมีการประกาศใช้สิทธิเพิ่มหรือไม่ 4. การประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร นอกจากรัฐจะประหยัดงบประมาณแล้ว ประชาชนได้ประโยชน์อะไร 5. การใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร มีผลกระทบต่อบริษัทยา ตลาดยาโลก และการส่งออกของสินค้าไทยอย่างไรบ้าง 6. ที่มีข่าวว่ากระทรวงสาธารณสุขดำเนินการไปโดยไม่มีการปรึกษากระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ทำไมจึงไม่มีการเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 7. การดำเนินการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐดังกล่าวจะมีผลทำให้บริษัทยาต่างประเทศไม่ลงทุนวิจัยพัฒนายาในไทย และจะทำให้ประเทศไทยล้าหลังในการวิจัยจริงหรือไม่ 8. ที่มีข่าวว่าผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของไทยในการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตร ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร มีองค์กรระหว่างประเทศใดที่สนับสนุนไทยหรือไม่ 9. บริษัทยาแสดงความกังวลว่าแม้บริษัทต้องการเจรจากับรัฐ ภายหลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขออกประกาศการใช้สิทธิโดยรัฐต่อยาที่มีสิทธิบัตรแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่ยอมเจรจาด้วย เพราะอะไร และ 10. ยาที่ผลิตหรือนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น อินเดีย ที่มีราคาต่ำกว่ายาต้นแบบ จะมั่นใจได้อย่างไรว่ามีคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ อนึ่งในการพิจารณาการใช้สิทธิโดยรัฐในยาตัวใดนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดตั้งขึ้น ประกอบด้วยตัวแทนองค์กรอิสระ กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ อ.ย. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประธานเครือข่ายผู้ป่วยโรคนั้นๆ โดยมีเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นประธาน ยึดหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. เป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติและจำเป็นต้องใช้ 2. เป็นยาที่มีราคาสูงมากประชาชนไม่สามารถเข้าถึง 3. กำหนดค่าธรรมเนียมให้อยู่ระหว่างร้อยละ 0.5-2 เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไป ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พยายามเจรจากับเจ้าของสิทธิบัตรมาตลอด โดยตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตรตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2548 มีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาเป็นประธาน และมีผู้แทนจากกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสาธารณสุขและพาณิชย์ร่วมอยู่ด้วย ในช่วงปี 2548-2549 กรมควบคุมโรคได้เชิญบริษัทยาทุกแห่งที่จำหน่ายยาต้านไวรัสเอดส์มาเจรจาเพื่อขอลดราคายา แต่การดำเนินการได้ผลน้อยมาก หลังจากการประกาศใช้สิทธิดังกล่าวแล้ว ขณะนี้องค์การเภสัชกรรมนำเข้ายาเอฟาวิเรนซ์มาแล้ว 16,000 ขวด และมีการเจรจากับบริษัทยาทั้ง 3 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดบริษัทยาเมิร์ค ชาร์ปแอนด์โดร์ม จำกัด (Merck Sharp & Dohme) ก็ได้ประกาศลดราคาเอฟาวิเรนซ์ ลง 50 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ซึ่งเป็นข่าวที่ดีมาก และแสดงความมีน้ำใจของบริษัทยา โดยการประกาศใช้สิทธิโดยรัฐของไทย ส่งผลให้ประชาชนทั่วโลกไม่เพียงเฉพาะไทย ได้มีโอกาสเข้าถึงยามากขึ้นถึงเท่าตัว ******************** 16 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ