สธ.มหาสารคาม รับนโยบาย “คนไทยห่างไกลโรคฯ” เดินหน้าฉีดวัคซีน HPV ให้กลุ่มเป้าหมายกว่า 2.8 หมื่นคน พร้อมเสริมแกร่ง อสม. ช่วยลดความเสี่ยง NCDs
- สำนักสารนิเทศ
- 216 View
- อ่านต่อ
วันนี้ (9 ธันวาคม 2553) ที่โรงแรมรามา การ์เด้นท์ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเปิดการประชุมชี้แจงนักจิตวิทยาคลินิก และพยาบาลจิตเวชระดับปริญญาโท จากศูนย์สุขภาพจิต และโรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวน 500 คน เพื่อเตรียมความพร้อมในการออกสำรวจเชาวน์ปัญญา หรือไอคิวของเด็กไทยทั่วประเทศ ซึ่งจะดำเนินการวันที่ 13-24 ธันวาคม 2553 ว่า การสำรวจไอคิวของไทยครั้งนี้ เป็นการสำรวจครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศและน่าจะพูดได้ว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากใช้กลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเด็กอายุ 6 ปี -17 ปี หรือเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวนประมาณ 1 แสนคน และจะช่วยให้รู้ระดับไอคิวละเอียดขึ้น ทั้งค่าเฉลี่ยในระดับประเทศ ระดับภาค ระดับจังหวัด และระดับพื้นที่ เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาต่อไป คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนมกราคม 2554
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ ยอมรับว่าไอคิวมีความสัมพันธ์กับไอโอดีน โดยไอโอดีนมีผลต่อไอคิว 10-15 จุด และคนทุกวัยมีความจำเป็นต้องได้รับไอโอดีนไม่ใช่เฉพาะเด็ก โดยผู้ใหญ่ต้องการวันละ 150 ไมโครกรัม หญิงตั้งครรภ์วันละ 200 ไมโครกรัม และถ้าขาดหรือพร่องไอโอดีนก็จะมีผลต่อสติปัญญา การทำงาน ความกระตือรือร้น การตัดสินใจ พบว่าไอคิวเด็กไทยขณะนี้อยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง กระทรวงสาธารณสุขได้มีมาตรการแก้ไขปัญหา โดยกำหนดนโยบายให้ซอสปรุงรส น้ำปลา เกลือ ซีอิ๊ว จะต้องเติมไอโอดีน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป แจกไอโอดีนเม็ดให้กับหญิงตั้งครรภ์ทุกคน ซึ่งมีปีละ 8 แสนคนทั่วประเทศในรพ.ทุกแห่งที่ไปฝากครรภ์ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา เนื่องจากพบว่าหญิงตั้งครรภ์อยู่ในภาวะพร่องไอโอดีนถึงร้อยละ 60 หากมีภาวะพร่องไอโอดีนอย่างรุนแรง ลูกที่คลอดออกมาอาจพิการหรือปัญญาอ่อนได้ และผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก
สำหรับตัวเลขไอคิวที่จะทราบผลในเดือนมกราคม 2554 จะเป็นข้อมูลที่ช่วยในการแก้ปัญหาเชิงลึกมากขึ้น ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามระดับไอคิวของแต่ละพื้นที่ การแก้ปัญหาเรื่องนี้ก็จะตรงจุดและเป็นประโยชน์อย่างมาก ต่อไปก็จะช่วยให้ไอคิวคนไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ เพราะหากไอคิวคนในประเทศต่ำ ขีดความสามารถประเทศก็จะต่ำตามไปด้วย
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในการเพิ่มไอคิวในระดับสากลจะตั้งเป้าภายใน 5 ปี อย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ ภายใน 5 ปี สามารถเพิ่มไอคิวจาก 102 เป็น 108 จุดได้ ขณะนี้สิงคโปร์มีไอคิวสูงที่สุดในโลกคู่กับฮ่องกง ดังนั้นหลังจากที่เรารู้ตัวเลขในเดือนมกราคม 2554 แล้ว ก็จะตั้งเป้าหมายของประเทศไทยเช่นกันว่าภายใน 5 ปี จะสามารถเพิ่มไอคิวได้เท่าไหร่ อย่างไร ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ คณะทำงาน เพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาในแต่ละภาคส่วน อย่างเป็นรูปธรรมที่สุด
ทั้งนี้ ล่าสุดระดับไอคิวคนไทยอยู่ที่ 91 จุด จากมาตรฐานสากล 90-110 จุด ซึ่งเกือบตกเกณฑ์มาตรฐาน จึงจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาโดยการเพิ่มไอโอดีน และต่อไปจะมีมาตรการอื่นตามมา สำหรับประเทศในเอเชีย เช่น จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มีระดับไอคิวเกิน 100 จุดทั้งนั้น แต่ไทยอยู่ในระดับเดียวกับบรูไน และกัมพูชา คือ 91 จุด