สาธารณสุขส่งทีมนักจิตวิทยาพิเศษ ออกเยียวยาใจครอบครัวผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 181 ราย โดยเริ่มเยี่ยมตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปและทยอยเยี่ยมจนครบทุกราย รวมทั้งดูแลสุขภาพจิตผู้ที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง ไร้ที่อยู่ รวมทั้งพื้นที่เกษตรกรรมเสียหายรุนแรง เพื่อบรรเทาความเครียดเบื้องต้น ขณะนี้พบผู้ประสบภัยมีปัญหาสุขภาพจิต 4,578 ราย มีความเครียดในระดับรุนแรง และส่งต่อเพื่อรักษาและติดตามอาการต่อเนื่อง 476 ราย

วันนี้(11 พฤศจิกายน 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและคณะ เดินทางไปตรวจเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม เยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ มอบของช่วยเหลือและเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ที่สถานีอนามัยบ้านบางคู ต.ควนทอง อ.ขนอม สถานีอนามัยบ้านเขาฝ้าย ต.ทุ่งใส   อ.สิชล ที่โรงพยาบาลสิชล และสถานีอนามัยบ้านปากนคร ต.ท่าไร่ อ.เมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช   
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัยในครั้งนี้ มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 6 ล้านคน ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะให้การดูแลผู้เจ็บป่วยทางกายซึ่งได้ให้บริการดูแลรักษาไปแล้วกว่า 5 แสนคน ยังให้การดูแลถึงจิตใจ  ขณะนี้พบผู้ประสบภัยมีความเครียด 4,578 ราย ต้องติดตามอาการใกล้ชิด 476 ราย เนื่องจากกลุ่มนี้หากไม่ได้รับการดูแลอาจพัฒนาไปสู่อาการซึมเศร้า และทำร้ายตัวเองได้ ซึ่งในช่วงหลังน้ำลดนี้อาจจะพบปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น เนื่องจากประชาชนเห็นความสูญเสียชัดเจน
ในระยะเร่งด่วนนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการพิเศษให้การดูแลผู้ที่มีความสูญเสียมาก  ประกอบด้วย 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือมีคนในครอบครัวเสียชีวิต ซึ่งจากการสอบสวนสาเหตุการตายจากน้ำท่วมพบมี 181 ราย เฉพาะภาคใต้ 55 ราย โดยส่งทีมนักจิตวิทยา จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ จากโรงพยาบาลจิตเวช 17 แห่ง และศูนย์สุขภาพจิต 15 แห่ง ไปให้การดูแลถึงครอบครัว โดยจะทำการประเมินระดับความเครียดในกลุ่มญาติของผู้เสียชีวิต เพื่อให้การดูแลอย่างต่อเนื่องร่วมกับพื้นที่ บางรายอาจใช้ยาคลายเครียดร่วมด้วย โดยจะทยอยเยี่ยมจนครบทุกราย ได้เริ่มดำเนินการแล้วที่ขอนแก่น นครราชสีมา สงขลา พบว่ามีความเครียดในระดับปานกลาง คือ มีความวิตกกังวล ย้ำคิด ย้ำทำ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว
และกลุ่มที่ 2 คือผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายบ้านพังทั้งหลัง ไร้ที่อยู่อาศัย ไร่นาหรือสวนยางเสียหายรุนแรง จะประสานงานกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขึ้นทะเบียน และจัดส่งทีมดูแลเช่นกัน โดยทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าว จะมีการติดตามผลทุกสัปดาห์ และประเมินทุกเดือน จนกว่าอาการจะปกติ  ในพื้นที่ภาคใต้ จะให้รพ.สวนสราญรมย์ จ.สุราษฎร์ธานีและรพ.จิตเวชสงขลาราชนครินทร์   จ.สงขลา เป็นหน่วยงานหลัก ดำเนินการร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลทุกแห่ง และศูนย์สุขภาพจิตที่ 11 และ 12     
ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพื้นที่ประสบภัยพิบัติ 23 อำเภอ 275 หมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิต 8 ราย บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 8 หลัง สถานบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหาย 23 แห่ง เป็นสถานีอนามัย 19 แห่งทั้งหมดให้บริการได้ ความเสียหายส่วนใหญ่กระเบื้องหลังคาแตก อยู่ระหว่างการประเมิน ส่วนการดูแลประชาชนได้ออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 38 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วย 4,500 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัด          
************************ 11 พฤศจิกายน 2553
 


   
   


View 14       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ