วันนี้ (10 พฤศจิกายน 2553) ที่ห้องรับรองอาคารรัฐสภา กทม. นายพานอส อิงเกลซอส (Mr.Panos Englezos) ประธานสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ (President of the Board, Thalassaemia International Federation:TIF) พญ.แอนดรูลา แอเลฟเธอเรียล(Dr.Androulla Elefteriou) ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์สมาพันธ์ฯ ศ.นพ.สุทัศน์ ฟู่เจริญ ศูนย์วิจัยธาลัสซีเมีย มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือในการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งเป็นโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม มีการสร้างฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกตัวเร็วกว่าปกติ
นายจุรินทร์กล่าวว่า ประเทศไทยมีแผนยุทธศาสตร์ธาลัสซีเมียแห่งชาติ ปี 2550 – 2554 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ โดยมีกรมอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินงาน และมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ในวันนี้ ประธานสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ ได้แสดงความชื่นชมการแก้ไขปัญหาธาลัสซีเมียของประเทศไทย ที่มีความก้าวหน้าในการดูแลผู้ป่วยทั้งมาตรการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ และการดูแลรักษาที่ดี ขณะนี้ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาฟรี รวมทั้งยาสำคัญที่ใช้ในการรักษา 2 ใน 3 ชนิด ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ อยากเห็นไทยพัฒนาศูนย์ดูแลผู้ป่วยธาลัสซีเมียขึ้นเป็นศูนย์ระดับชาติ และต้องการร่วมมือกับไทยพัฒนาศูนย์นี้ให้เป็นศูนย์ระดับภูมิภาคต่อไป เพื่อช่วยดูแลประเทศใกล้เคียงในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ลาว กัมพูชา พม่า ที่มีผู้ป่วยโรคนี้จำนวนมาก ได้มอบหมายให้กรมอนามัยปรึกษาหารือในรายละเอียดกับสมาพันธ์ธาลัสซีเมียนานาชาติ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะนี้ไทยมีค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคธาลัสซีเมียปีละกว่า 21,500 ล้านบาท แต่หากเราสามารถควบคุมป้องกัน โดยการตรวจคัดกรองค้นหากลุ่มเสี่ยงได้ดี ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพียงปีละ 125 ล้านบาท จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาลงได้เป็นอย่างมาก
นายจุรินทร์กล่าวต่ออีกว่า ไทยพบชายหญิงที่มีพันธุกรรมโรคธาลัสซีเมียแอบแฝงในตัวร้อยละ 37 หรือประมาณ 24 ล้านคน และมีคู่สมรสเสี่ยงมีบุตรเป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงปีละ 17,000 คู่ ในแต่ละปีจะมีเด็กเกิดใหม่เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรงที่ต้องรับการรักษา 4,253 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกภูมิภาค และมูลนิธิธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทย ดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคธาลัสซีเมียมานานกว่า 15 ปี โดยมีบริการให้คำปรึกษา และตรวจคัดกรองหญิงตั้งครรภ์เพื่อดูพันธุกรรมที่ผิดปกติ หากพบว่าเป็นธาลัสซีเมียก็จะตรวจเลือดสามีว่าเป็นพาหะโรคธาลัสซีเมียด้วยหรือไม่ หากเป็นพาหะธาลัสซีเมียทั้งคู่ จะตรวจวินิจฉัยทารกในครรภ์ หากพบว่าบุตรเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง จะแนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ สำหรับประชาชนทั่วไปที่เป็นธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง จะได้รับการรักษาโดยการให้เลือด ให้ยาเม็ดโฟลิก และยาจีพีโอ แอล วัน (GPO L-one) เพื่อขับธาตุเหล็กที่เกินออกจากร่างกาย และการตัดม้าม ซึ่งเป็นบริการฟรี ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเลือดธาลัสซีเมีย จะสุขภาพไม่แข็งแรง เจริญเติบโตช้า ร่างกายอ่อนแอ ติดเชื้อง่าย ต้องหยุดเรียนหยุดงานบ่อยเพื่อรักษาตัว
******************************** 10 พฤศจิกายน 53
View 14
10/11/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ