สาธารณสุขให้หน่วยสอบสวนเคลื่อนที่เร็วใน 38 จังหวัดน้ำท่วม เฝ้าระวังโรคฉี่หนู     ให้เข้มที่ภาคใต้และอีสานซึ่งมีโรคนี้ในท้องถิ่นอยู่ก่อนแล้ว เน้นยุทธการ 4 เร็ว คือค้นหาผู้ป่วยเร็ว วินิจฉัย ให้ยาเร็วและควบคุมการแพร่ระบาดให้เร็ว ตั้งเป้าจะไม่ให้มีการระบาดและเสียชีวิต ล่าสุดยังไม่พบการระบาดโรคฉี่หนูในสถานการณ์น้ำท่วม

          ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่และมอบของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจำนวน 450 ชุด ที่โรงเรียนจำปาหล่อพิทยาคม อ.เมือง จ.อ่างทอง และเยี่ยมบ้านผู้สงอายุ ผู้พิการ ผู้ป่วยเรื้อรัง และอสม.ที่หมู่ 4 ต.จำปาหล่อ อ.เมือง ซึ่งระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ เมื่อบ่ายวันนี้ ( 9 พฤศจิกายน 2553 ) ว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มเข้าสู่ในระยะการฟื้นฟู ซึ่งเป็นบทบาทหนักของกระทรวงสาธารณสุขที่จะป้องกันทุกวิถีทางไม่ให้มีโรคระบาดซ้ำเติมทุกข์แก่ผู้ประสบภัยใน 38 จังหวัด โรคที่คาดว่าจะเกิดตามมาก็คือโรคฉี่หนู   ซึ่งจะพบในช่วงหลังมีน้ำท่วมขังแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ขึ้นไป โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าจะไม่ให้มีการระบาดและเสียชีวิตจากโรคฉี่หนู

ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า ในการป้องกันการเสียชีวิตจากโรคดังกล่าวนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่ประสบภัย เฝ้าระวังอย่างเต็มที่ร่วมกับสำนักงานควบคุมป้องกันโรค 12 ศูนย์ และสำนักระบาดวิทยา    เน้นหนักจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีรายงานผู้ป่วยโรคฉี่หนูมาก่อนที่น้ำจะท่วมอยู่แล้ว โดยให้ทุกพื้นที่ใช้ยุทธการ 4 เร็ว คือ ค้นหาผู้ป่วยให้เร็ว วินิจฉัยเร็ว  ให้การรักษาเร็ว และควบคุมการแพร่ระบาดให้รวดเร็ว ซึ่งโรคนี้มียารักษาให้หายขาดได้ ผลการจากการเฝ้าระวังโรคจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบการระบาดจากโรคฉี่หนูในสถานการณ์น้ำท่วม    

ดร.พรรณสิริกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันโรคฉี่หนู ต้องขอความร่วมมือประชาชน 3 เรื่อง คือ 1. กลุ่มประชาชนที่ต้องระมัดระวังโรคฉี่หนูเป็นพิเศษได้แก่ ผู้ที่มีบาดแผลที่เท้า หรือผู้ที่กำลังเป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่ควรสัมผัสน้ำท่วมขัง   เนื่องจากเชื้อโรคฉี่หนูจะสามารถไชผ่านทางบาดแผลได้   หากหลีกเลี่ยงเดินเหยียบย่ำน้ำท่วมขังไม่ได้ ขอให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่นรองเท้าบู้ท หรือสวมถุงพลาสติกหุ้มเท้าถึงขา ป้องกันไม่ให้น้ำเปียกแผล ผู้ที่ไม่มีบาดแผล ขอให้ล้างเท้าด้วยน้ำสะอาดทุกครั้งหลังเดินลุยน้ำ 2. ขอให้ประชาชนร่วมกันกำจัดขยะ สิ่งปฏิกูล และกำจัดหนูอย่างต่อเนื่องและ3.หากประชาชนป่วย มีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่บริเวณน่อง ขอให้รีบพบแพทย์และแจ้งแพทย์ด้วยว่าอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือลุยน้ำท่วมขังมา

 ทั้งนี้สถานการณ์โรคฉี่หนูในปี 2553 ตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม ช่วงก่อนน้ำท่วมทั่วประเทศมีรายงานผู้ป่วย 3,745 ราย เสียชีวิต 32 ราย จังหวัดที่พบผู้ป่วยมาก 10 จังหวัดได้แก่ บุรีรัมย์ 632 ราย ศรีสะเกษ 422 ราย สุรินทร์ 415 ราย ขอนแก่น 324 ราย กาฬสินธุ์ 199 ราย อุบลราชธานี 121 ราย นครราชสีมา 114 ราย ร้อยเอ็ด 99 ราย เลย 94 ราย และนครศรีธรรมราช 87 ราย ในช่วงหลังน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุขมีระบบเฝ้าระวังเชิงรุกติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในพื้นที่น้ำท่วมได้จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วเพิ่มเติมหน่วยงานละ 4 ทีม พร้อมด้วยทีมสนับสนุนจากส่วนกลาง ดร.พรรณสิริกล่าว  

         *******************************     9 พฤศจิกายน 2553 

 


   
   


View 15    09/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ