และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นครอบครัวละ 5,000 บาท พร้อมสั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เข้มมาตรการต้านภัยหนาว รณรงค์ให้ความรู้ แจกอุปกรณ์กันหนาว ตั้งเป้าลดผู้ป่วยผู้เสียชีวิตจากโรคปอดบวมให้มากที่สุด เตือนประชาชนอย่าป้องกันความหนาวแบบผิดๆ เช่นการดื่มเหล้า การจุดไฟในเต้นท์ หรือนอนผิงไฟ อาจถึงเสียชีวิตได้

                เช้าวันนี้ (8 พฤศจิกายน 2553) ที่จังหวัดอุบลราชธานี นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์ ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะ เยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่ชุมชนท่าบ้งม้ง และชุมชนเกตุแก้ว อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี มอบเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยเบื้องต้น ครอบครัวละ 5,000 บาท พร้อมมอบยา เวชภัณฑ์ ถุงยังชีพ เครื่องนุ่งห่มกันหนาว แก่ผู้ประสบภัย  ซึ่งชุมชนแห่งนี้ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากมีผู้ประสบภัย 900  ครอบครัว  ขณะนี้มีอยู่ 170 ครอบครัวที่น้ำท่วมสูง ประมาณ 1 เมตร ได้อพยพมาอาศัยพักชั่วคราวที่ทางเทศบาลจัดเตรียมไว้ให้  จนกว่าน้ำจะลด
                นายจุรินทร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมหลังน้ำลดไว้ชัดเจน และสั่งการไปยังสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศที่ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว โดยมี 3  แผน 11 กิจกรรมที่ต้องฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลด ดังนี้ 1. แผนการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เยียวยาทั้งสุขภาพกายและจิตใจประชาชนที่ประสบภัย 2. แผนควบคุมโรค ป้องกันไม่ให้โรคระบาดทุกพื้นที่ต้องทำให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ 3. แผนสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูสภาพน้ำดื่มน้ำใช้ด้วยคลอรีน ส่วนน้ำขังต้องใช้สารอีเอ็มช่วยบำบัด  ในเรื่องขยะ สิ่งปฎิกูลที่ต้องไปฉีดพ่นยา ฆ่าหนอน แมลงวันและแหล่งเพาะพันธุ์ยุง   ซึ่งทุกพื้นที่ที่น้ำลดได้เริ่มดำเนินการบูรณาการการทำงานโดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกับหน่วยงานในพื้นที่
                นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องภัยหนาว ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการต้านภัยหนาวด้านการแพทย์และสาธารณสุข  ที่กระทรวงสาธารณสุข  กำหนดแนวทางการทำงาน และได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนให้ดูแลตนเองให้พ้นภัยหนาว ซึ่งในปีที่ผ่านมามีประชาชนป่วยเป็นโรคปอดบวมเกือบ 1,000  ราย เสียชีวิต 340 ราย จากปอดบวมในช่างฤดูหนาว ปีนี้ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลงให้ได้มากที่สุด  โดยให้ออกรณรงค์ให้ความรู้ แจกอุปกรณ์เครื่องนุ่งห่มกันหนาวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 
รวมทั้งออกคำเตือนความเข้าใจผิดของประชาชนหลายเรื่องในการดูแลตนเองช่วงฤดูหนาว นำไปสู่การเจ็บป่วยและเสียชีวิต เช่น การดื่มเหล้า  ที่คิดว่าจะช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ในที่สุดจะตรงกันข้าม เพราะช่วยให้รู้สึกดีในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจะปัสสาวะบ่อย ทำให้ร่างกายขาดน้ำ เมื่ออาการหนาวจัดนำไปสู่การเสียชีวิตได้  การจุดไฟนอนในเต้นท์ เมื่อเผลอหลับไปไม่รู้ตัว ไฟที่จุดไว้จะทำให้เกิดกาซคาร์บอนไดออกไซค์ในเต้นท์  หลับไปแล้วทำให้เสียชีวิตได้   หรือการออกมานอนผิงไฟ โดยไม่มีเครื่องนุ่งห่มกันหนาว เมื่อไฟมอด อาจหนาวตายได้เช่นกัน
 
   ***************************************** 8 พฤศจิกายน 2553


   
   


View 9    08/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ