รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยในรอบ 16 วันหลังวิกฤติน้ำท่วม กระทรวงสาธารณสุขออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่รักษาผู้เจ็บป่วยกว่า 3.5 แสนราย ในจำนวนนี้พบอาการเครียด วิตกกังวลเกือบ 3 หมื่นราย ต้องติดตามเฝ้าระวังใกล้ชิด 394 ราย ยังไม่พบฆ่าตัวตายจากน้ำท่วมและยังไม่พบโรคระบาดใด ๆ วันนี้จะส่งยาไปจังหวัดภาคใต้ และภาคกลางอีก 75,000 ชุด   
 
บ่ายวันนี้ (5 พฤศจิกายน 2553) ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดสิงห์บุรีและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยเยี่ยมผู้ประสบภัยที่จุดอพยพชั่วคราวที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลประศุก หมู่ 3 ต.ประศุก  อ.อินทร์บุรี และลงเรือเยี่ยมบ้านและพระภิกษุที่วัดระนาม มอบรองเท้าบู้ทป้องกันโรคฉี่หนู 260 คู่ ยากันยุง 1,500 ซอง ถุงดำใส่ขยะ สิ่งปฏิกูล 25 กิโลกรัม เจลล้างมือ 1,000 หลอด โลชั่นทากันยุง 300 ขวด และยาชุดน้ำท่วม 250 ชุด จากนั้นเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลอินทร์บุรี ซึ่งอยู่ริมน้ำเจ้าพระยา แต่มีน้ำท่วมขังทางเข้าออกโรงพยาบาล ระดับน้ำสูง 70 เซนติเมตร ใช้รถอีแต๋นรับส่งผู้ป่วย ในโรงพยาบาลน้ำไม่ท่วมให้บริการตามปกติ  ได้จัดหน่วยแพทย์บริการเสริมให้กับประชาชนที่มาโรงพยาบาลไม่สะดวกวันละ 2 จุด ตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม -5 พฤศจิกายน 2553 มีผู้รับบริการประมาณ 1,200 ราย ส่วนใหญ่น้ำกัดเท้า ไข้หวัด ปวดท้อง   
 
ดร.พรรณสิริ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่น้ำกำลังท่วมและคลี่คลายแล้ว รวม 50 จังหวัด วานนี้ได้ออกปฏิบัติการ 232 ทีม มีผู้เจ็บป่วย 34,647 ราย ผลการปฏิบัติงานในรอบ 16 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม - 4 พฤศจิกายน 2553 หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ปฏิบัติการรวมทั้งหมด 87,531 ครั้ง มีผู้เจ็บป่วยรวม 353,549 ราย กว่าครึ่งเป็นโรคน้ำกัดเท้า รองลงมาคือไข้หวัด โดยมีผู้ประสบภัยที่มีอาการเครียด รวม 29,662 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 ของผู้ป่วยทั้งหมด ซึ่งมากกว่าร้อยละ 50 มักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดต้นคอ นอนไม่หลับ ใจสั่น และพบผู้มีอาการเครียดรุนแรง 394 ราย ร้อยละ 50 อยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา อีกร้อยละ 50 อยู่ในจังหวัดภาคกลาง เจ้าหน้าที่ได้ให้การรักษาพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งกระตุ้นให้ชุมชนร่วมดูแลช่วยเหลือ เป็นการรักษาทางสังคมได้ผลดีถือเป็นยาขนานเอกในการดูแลผู้ที่เกิดความเครียดโดยประชาชนและมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดเป็นเวลา 6 สัปดาห์หรืออาจนานกว่าในการฟื้นฟู ได้ดำเนินการแล้วที่จังหวัดนครราชสีมาและจะขยายผลทุกจังหวัด จนถึงขณะนี้ยังไม่พบปัญหาฆ่าตัวตายจากน้ำท่วม
                                  
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อไปว่า สำหรับโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม ได้แก่ ฉี่หนู อุจจาระร่วง ไทฟอยด์ ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม ไข้เลือดออก และโรคหัด ที่ขณะนี้ยังไม่พบการระบาดใดๆ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดสรรงบประมาณกว่า 7 ล้านบาทในการควบคุมโรคในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่หลังน้ำลด โดยเฝ้าระวังโรคต่อเนื่อง ฉีดพ่นสารเคมีทำลาย ยุง แมลงวัน ไข่แมลงวัน รวมทั้งกำจัดขยะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค นอกจากนี้ได้สั่งการให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สุ่มตรวจความปลอดภัยอาหารและน้ำดื่มในพื้นที่ประสบภัยซึ่งมีรถปฏิบัติการเคลื่อนที่ 7 คัน ขณะนี้ได้ออกให้บริการแล้วทุกภาค
 
ทั้งนี้ในวันนี้กระทรวงสาธารณสุขได้จัดส่งยาชุดน้ำท่วม ซึ่งมียารักษาโรคน้ำกัดเท้า รวม 75,000 ชุดไป 10 จังหวัดที่น้ำกำลังท่วมและน้ำท่วมขัง ได้แก่ สงขลา สุราษฎร์ธานี สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี นราธิวาส ชุมพร อยุธยา และสิงห์บุรี ดร.พรรณสิริ กล่าว          
 
        ....................   5 พฤศจิกายน 2553


   
   


View 9    05/11/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ