นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า วันนี้ ( 26 ตุลาคม 2553)ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมด้านการแพทย์และสาธารณสุขของกระพรวงสาธารณสุข ได้ประเมินสถานการณ์ พบมีจังหวัดประสบภัย 33 จังหวัด ซึ่งมีสถานพยาบาลถูกน้ำท่วมทั้งหมด 543 แห่ง กว่าร้อยละ 95 เป็นสถานีอนามัย และในวันนี้ได้สั่งการให้โรงพยาบาลในจังหวัดจะเสี่ยงน้ำท่วมต่อไปทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี รวมทั้งพื้นที่ทีน้ำท่วมแล้วคือ ลพบุรี ชัยภูมิ นคราชสีมา ให้จัดทำแผนรับมือ 4 แผนตามนโยบาย คือแผนป้องกันน้ำไม่ให้เข้าท่วม แผนสำรองทรัพยากรที่ใช้ในการรักษาพยาบาล แผนการรับส่งต่อผู้ป่วย และแผนการจัดระบบริการให้เหมาะสม โดยเฉพาะการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ รวมทั้งให้ผู้ตรวจราชการฯลงไปอำนวยการ เร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตามนโยบายที่ได้มอบไว้ นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ประชาชนในพี้นที่ที่น้ำกำลังท่วมขังเดือดร้อนอย่างมาก ต้องเร่งบรรเทาความเดือดร้อนอย่างด่วน 2 เรื่อง คือ 1. ปัญหาเรื่องส้วม ในวันนี้ได้สั่งการให้กรมอนามัยจัดทำส้วมฉุกเฉิน มี 3 รูปแบบ คือ ส้วมกล่อง ส้วมลอยน้ำและส้วมนั่งเก้าอี้พลาสติกเจาะรู รวม 55,100 ชุด คาดจะส่งให้จังหวัดลพบุรี สระบุรี นคราชสีมา ชัยภูมิ โดยกระจายผ่านทางศูนย์อนามัยเขตประจำพื้นที่ และเรื่องที่ 2 คือน้ำกัดเท้าซึ่งพบมากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ประสบภัย ได้เร่งให้องค์การเภสัชกรรม รพ.พหลพลพยุหเสนา รพ.พระนครศรีอยุธยา รพ.พระนั่งเกล้า สถาบันโรคผิวหนัง เร่งผลิต กำลังผลิตจะได้ประมาณ 30,000 ตลับต่อวัน และประสานให้โรงงานเภสัชกรรมทหารผลิตผงโรยเท้ารักษาโรคน้ำกัดเท้าจากเชื้อราเพิ่มเติมอีก จะได้เร่งกระจายให้ประชาชนและหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ทุกจังหวัด สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ตั้งแต่ 20-25 ตุลาคม 2553 มียอดผู้เจ็บป่วยรวม 141,918 ราย พบโรคน้ำกัดเท้ามากที่สุด รองลงมาคือไข้หวัด ปวดเมื่อย เฉพาะวานนี้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 128 ทีม ตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งหมด 2,641 ราย ไม่มีอาการรุนแรงถึงขั้นนอนโรงพยาบาล อีกเรื่องหนึ่งคือ ต้องเร่งป้องกันการเสียชีวิตจากน้ำท่วม จากรายงานของโรงพยาบาลทุกระดับที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติรวบรวมตั้งแต่ 15-25 ตุลาคม 2553 มีผู้เสียชีวิต 56 รายใน 17 จังหวัด สาเหตุร้อยละ 60 เกิดจากการจมน้ำ รองลงมาคือออกหาปลาและเล่นน้ำ โดย 2 กลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุดได้แก่ กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปีและผู้สูงอายุ ในวันนี้ได้ให้ทุกจังหวัดเร่งให้คำแนะนำความรู้ในการป้องกันการเสียชีวิตคือ หลีกเลียงไม่ให้เด็กลงเล่นน้ำ ออกหาปลาด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรขับรถฝ่ากระแสน้ำไหลเชี่ยวหรือระหว่างที่ฝนตกหนัก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคประจำตัวที่สำคัญคือ โรคลมบ้าหมู โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หากมีอาการกำเริบจะเสียชีวิตเร็วมาก และไม่ควรดื่มเหล้า ผู้ที่ว่ายน้ำไม่เป็นไม่ควรลงไปช่วยผู้ที่ตกน้ำ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือคนอื่นที่ช่วยได้ หรือให้ใช้อุปกรณ์อื่นที่ลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนเปล่า ไม้ยาวๆ หรือเชือกให้ผู้ตกน้ำเกาะพยุงตัว เป็นต้น ********************************** 26 ตุลาคม 2553


   
   


View 12    26/10/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ