และ 3 แผนรุกบริการประชาชนในพื้นที่ประสบภัย          โดยเฉพาะ 19 แห่งในกทม. ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ เสี่ยงสูง เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อบริการประชาชน 

          วันนี้(24 ตุลาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกรทรวงสาธารณสุข ประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปใน 12 จังหวัดที่อยู่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง นครปฐม สุพรรณบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และโรงพยาบาลสังกัดกรมต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อเตรียมรับมือน้ำท่วม และในวันนี้ได้มอบยาและเวชภัณฑ์จำนวน 4 รายการ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ประกอบด้วย 1. ยาหม่องตะไคร้หอมจำนวน 4,200 ขวด 2. เจลล้างมือ 4,800 หลอด 3. ยาพาราเซตามอล 12,000 เม็ด 4. ยาทากันยุง 5,000 ซอง และ 5. ยาทารักษาน้ำกัดเท้า 10,000 ตลับด้วย
          ภายหลังการประชุมนายจุรินทร์ให้สัมภาษณ์ว่า ความคืบหน้ามาตรการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมของกระทรวงสาธารณสุขวันนี้มี 2 เรื่องใหญ่ เรื่องแรกได้แก่ 1. การกู้โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาให้พ้นภาวะน้ำท่วม เมื่อคำวานนี้ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องได้แก่ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกองทัพภาค2 ผู้แทนกรมชลประทาน   ได้ข้อสรุปตรงกัน กองทัพภาค2 และกรมชลประทานจะทำผนังกั้นน้ำและเร่งสูบน้ำออกให้โรงพยาบาลปลอดน้ำได้ภายในวันนี้ และตั้งแต่วันจันทร์เป็นต้นไป รพ.จะเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกตั้งแต่เวลา 8.00 น.เป็นต้นไปทั้งแผนกอายุรกรรม หูคอจมูกและแผนกเด็ก โดยได้จัดทำโครงเหล็กเป็นทางเดินให้ประชาชนเดินเข้าโรงพยาบาลไว้แล้ว
           ส่วนผู้ป่วยในที่จำเป็นต้องรับจากโรงพยาบาลลูกข่ายได้เปิดรับแล้วตั้งแต่วานนี้เช่นกัน ส่วนการผ่าตัดฉุกเฉิน ถ้าจำเป็นต้องผ่าตัด ได้เปิดให้บริการที่โรงพยาบาลค่ายสุรนารีและโรงพยาบาลกรุงเทพ-ราชสีมาไปก่อน โดยทีมแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชทำการผ่าตัดให้   โดยในวันนี้เมื่อน้ำลดหมดแล้วและเดินเครื่องระบบบำบัดน้ำเสียได้ ก็จะทำการผ่าตัดในโรงพยาบาลได้   นอกจากนี้ได้ประสานขอเฮลิคคอปเตอร์รับผู้ป่วยฉุกเฉินมาโรงพยาบาล ในกรณีที่จำเป็นด้วย 
          เรื่องที่ 2 คือการประชุมซักซ้อมความเข้าใจเรื่องการดำเนินการตามแผนการป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่จะมีผลกระทบต่อการให้บริการของกระทรวงสาธารณสุข   ขณะนี้มีพื้นที่เสี่ยง 13 จังหวัด รวมกทม. มีโรงพยาบาล 124 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงพยาบาลสังกัดกรมต่างๆของกระทรวงสาธารณสุขในเขตกทม. และปริมณฑลจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ และมีรพ.ที่เสี่ยงน้ำท่วมจำนวน 19 แห่ง ประกอบด้วยกทม. 2 แห่ง คือ รพ.สมเด็จสมเด็จเจ้าพระยา รพ.เลิดสิน จ.ปทุมธานี 8 แห่งได้แก่ รพ.ปทุมธานี รพ.สามโคก รพ.ลาดหลุมแก้ว รพ.ธัญบุรี รพ.ประชาธิปัตย์ รพ.ลำลูกกา รพ.หนองเสือ รพ.คลองหลวง     จ.นนทบุรี 6 แห่งได้แก่ รพ.พระนั่งเกล้า รพ.บางใหญ่ รพ.บางบัวทอง รพ.บางกรวย รพ.ปากเกร็ด รพ.ไทรน้อย และจ.สมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมน์    รพ.ราชประชาสมาสัย  และโรงพยาบาลสมุทรปราการ
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า แนวทางแก้ปัญหาหากเกิดน้ำท่วม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่องานบริการ   ได้ให้พื้นที่เสี่ยงจัดทำแผนรองรับ 4 แผนได้แก่ 1. แผนป้องกันน้ำท่วม เพื่อไม่ให้น้ำท่วมโรงพยาบาลและให้บริการประชาชนได้ 2.แผนสำรองทรัพยากรเช่นออกซิเจน อาหาร 3. แผนการส่งต่อผู้ป่วยใน และ4.แผนปรับการให้บริการถ้าประสบอุทกภัย โดยทั้ง 4 แผนต้องทำควบคู่กับการให้บริการผู้ป่วยตามนโยบายรักษาฟรีโดยไม่มีข้อแม้ ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารักษาในโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ทุกแห่ง หากบัตรหายให้แจ้งขื่อ นามสกุล ก็จะได้รับบริการฟรี 
นอกจากนี้ให้ทุกพื้นที่จัดบริการเชิงรุก คือ 1.ต้องจัดบริการ 4 มุมเมือง ในพื้นที่น้ำท่วมให้เหมาะสม
2.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการทุกพื้นที่ที่น้ำท่วมควบคู่กันทั้งสุขภาพกายและจิต เนื่องจากประชาชนมีความเครียด วิตกกังวลสูง จะได้เข้าช่วยคลี่คลายปัญหาอย่างทันท่วงที    และ 3. ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก ให้อยู่ในที่ปลอดภัย   โดยให้โรงพยาบาลทุกแห่งเปิดสายด่วน 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมจัดระบบประสานในการดูแลให้เรียบร้อย ขณะนี้เหลือโรงพยาบาลที่มีน้ำท่วมขัง 2 แห่งคือ รพ.พิมาย และรพ.จิตเวชนคราชสีมา ซึ่งรพ.พิมายสามารถเปิดให้บริการได้
สำหรับเรื่องการดูแลสุขภาพจิตประชาชนที่ประสบภัย   ขณะนี้ได้ออกตรวจผู้ป่วยแล้ว 4,888  ราย พบปัญหาสุขภาพจิต 706 ราย อยู่ระหว่างติดตามผล 78 รายซึ่งได้มีการส่งต่อผู้ป่วยดูแลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ นายจุรินทร์ยังได้กล่าวถึงกรณีผู้ใหญ่หญิงอายุประมาณ 50 ปี ผูกคอตายที่จังหวัดสระบุรีว่า   จากการตรวจสอบข้อมูลจากนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ทราบว่ารายนี้มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่เดิมและเคยพยายาม ผูกคอตายเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ไม่สำเร็จครั้งนี้ทราบว่ามีปัญหาครอบครัวด้วย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีนโยบายให้เร่งรณรงค์ด้านสุขภาพจิตในพื้นที่เนื่องจากมีน้ำท่วมมาหลายวัน   ได้ให้หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ซึ่งมีทั้งแพทย์ทางกายและแพทย์ทางจิตออกให้บริการมากขึ้น    สำหรับเรื่องยาเวชภัณฑ์ ขณะนี้แจกจ่ายไปแล้ว 4 แสนชุด กำลังผลิตเพิ่ม 5 แสนชุดโดยองค์การเภสัชกรรมและโรงพยาบาลอื่นๆที่มีศักยภาพผลิตเพิ่มด้วย  
 
 ****************************   24 ตุลาคม 2553


   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ