กระทรวงสาธารณสุข เผยผลสำรวจสุขภาวะเด็กไทย กลุ่มอายุ 1-14 ปี พบมีปัญหาเตี้ยมากกว่า5 แสนคน อ้วน ป่วยบ่อย ระดับไอคิวลดลง ชอบดูทีวี เล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าการออกกำลังกาย พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง โดยเด็ก 1 ใน 3 เคยชกต่อย ถูกขโมยของในโรงเรียน ทำให้ไม่อยากไปเรียน มอบสถาบันสุขภาพเด็กฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กไทย รวมทั้งออกมาชี้นำสังคมให้เด็กไทย เก่ง ดี มีสุข และแข็งแรง
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเร่งพัฒนาคุณภาพเด็กไทย ให้เด็กไทยมีคุณสมบัติได้ตามนโยบายรัฐบาลคือ เก่ง ดี มีสุข และแข็งแรง เริ่มตั้งแต่ในครรภ์มารดา ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และส่งเสริมพัฒนาการให้สมวัย ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กฯ ร่วมกับราชวิทยาลัยฯ องค์กรที่ทำงานด้านการดูแลเด็ก ทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาเด็กไทย รวมทั้งให้นักวิชาการด้านพัฒนาการเด็ก ออกมาชี้นำสังคม กระตุ้นผู้ปกครอง ครู ให้ความสำคัญพัฒนาการเด็ก เนื่องจากเด็กไทยขณะนี้มีสภาพน่าเป็นห่วงหลายๆเรื่อง
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลสำรวจสุขภาพอนามัยของเด็กโดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ล่าสุดเมื่อ พ.ศ.2551-2552 โดยสำรวจเด็ก 2 กลุ่ม คือกลุ่มปฐมวัยอายุ 1-5 ปี จำนวน 3,029 คนและกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปี จำนวน 5,999 คน จาก 20 จังหวัด พบว่าครอบครัวไทยขณะนี้มีเด็กเฉลี่ยครอบครัวละ 2 คน ผู้เลี้ยงดูเป็นแม่ร้อยละ 63 รองลงมาเป็นปู่ย่าตายายร้อยละ 25 และพ่อร้อยละ 7 ผู้เลี้ยงดูร้อยละ 50 จบประถมศึกษา และเด็กอายุ 3 -5 ปี ร้อยละ76 อยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กหรือโรงเรียนอนุบาล
นอกจากนี้ พบว่า เด็กไทยใช้เวลาในกิจกรรมที่ไม่เคลื่อนไหวร่างกาย มากกว่าการวิ่งเล่นตามวัย หรือการออกกำลังกาย โดยในเด็กอายุ 1-5 ปีร้อยละ 40 ดูทีวีมากกว่าวันละ 2 ชั่วโมง เด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 14 เล่นคอมพิวเตอร์มากกว่าวันละ 1 ชั่วโมง และในกลุ่มเด็กอายุ 6-14 ปีมีเพียงร้อยละ 50 ของที่ใช้เวลาออกกำลังกายวันละ 1 ชั่วโมง สัปดาห์ละ5 วัน
ด้านสุขภาพอนามัยพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ป่วยมากกว่าปีละ 5 ครั้ง เพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 16 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 21 จากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเช่นไขหวัด และอุจจาระร่วง นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กเผชิญกับปัญหาขาดสารอาหารและกินเกินพอดี โดยเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 520,000 คนหรือร้อยละ 4.4 ตัวเตี้ยกว่าเกณฑ์ ในจำนวนนี้มีเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีจำนวน 18,000 คน ที่เตี้ยแคระแกร็นอย่างรุนแรง ซึ่งเสี่ยงต่อการบกพร่องทางสติปัญญา และมีเด็กอายุ 1-14 ปี จำนวน 1 ล้าน 8 หมื่นคนหรือร้อยละ9 มีปัญหาน้ำหนักเกินถึงขั้นอ้วน ซึ่งจะมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคเรื้อรังอื่นๆ สูงกว่าเด็กปกติทั่วไป
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า ผลการสำรวจด้านเชาว์ปัญญา พบว่า ในช่วง 14 ปีมานี้ ค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยไม่ได้เพิ่มขึ้นเหมือนประเทศอื่น โดยเด็กไทยอายุ 6-14 ปี มีระดับเชาว์ปัญญาเท่ากับ 91.4 ซึ่งค่าเฉลี่ยระดับไอคิวปัญญาต่ำลงเมื่อเด็กอายุมากขึ้น มีเด็กถึงร้อยละ 50 ที่มีระดับเชาว์ปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติคือ 80 มีเพียงร้อยละ 11 ที่มีค่าเฉลี่ยระดับเชาว์ปัญญาสูงกว่าปกติ
ด้านแพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า ด้านการพัฒนาด้านอารมณ์-สังคมและจริยธรรม พบว่าเด็กทุกกลุ่มอายุมีคะแนนสูงกว่าการสำรวจปี 2544 ยกเว้นกลุ่มเด็กอายุ 6-9 ปี มีคะแนนด้านความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและการควบคุมอารมณ์ต่ำกว่าการสำรวจในปี 2544
นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กไทยเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงในช่วง 1 เดือนก่อนสำรวจ พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุ 6-14 ปี เคยชกต่อยกันในโรงเรียน เคยถูกขโมยของหรือทำลายข้าวของในโรงเรียน ทำให้เด็กอายุ 6-9 ปีร้อยละ 4 และเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 6 ไม่อยากไปโรงเรียนเนื่องจากรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยต่อตนเอง
แพทย์หญิงศิราภรณ์กล่าวต่อว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กไทยมีพัฒนาการ ไอคิว รวมทั้งสุขภาพถดถอยลง เนื่องจากสภาพสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นครอบครัวเดี่ยว หรือมีปู่ย่าตายายและหลานๆ อยู่บ้าน ส่วนพ่อแม่ทุ่มเวลาหาเงิน ทำงาน และใช้เงิน ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงดูเด็ก เช่นซื้อทีวี ซื้อเครื่องเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ให้ลูกเล่นอยู่บ้าน เพราะคิดว่าดีกว่า ปลอดภัยกว่าที่จะให้ลูกไปเล่นนอกบ้าน ซึ่งจะทำให้เกิดผลเสียต่อพัฒนาการสมบูรณ์แบบของร่างกาย และเด็กอาจเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบเกมส์โดยไม่รู้ตัวว่าอะไรคือเรื่องจริง อะไรคือเรื่องเล่น
ขอเตือนพ่อ-แม่-ผู้ปกครอง ให้แบ่งเวลาเอาใจใส่เด็กๆ ลูกหลานของท่าน อย่ามุ่งทำงานหาเงินจนลืมลูก อย่าใช้เงินเลี้ยงลูก หรือซื้อสิ่งของชดเชยเวลาที่ไม่มีให้ลูก และอย่าฝากภาระไว้กับครูที่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว ขอให้เวลาแก่ลูกมีเวลาใกล้ชิด เป็นที่ปรึกษา ให้เด็กๆ เติบโตในบ้านที่อบอุ่น ในสังคมที่ปลอดภัย ให้เด็กไทยมีพัฒนาการที่พร้อมทั้ง อารมณ์ สังคม สติปัญญา เป็นอนาคตของชาติ แพทย์หญิงศิราภรณ์กล่าว
****************************************** 12 กันยายน 2553
View 14
12/09/2553
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ