วันนี้ (10 กันยายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และพ.ต.อ.พฤทธิพงษ์ ประยูรศิริ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) แถลงข่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคให้เข้าทำการตรวจสอบแหล่งผลิตเครื่องสำอางที่ อย.เคยประกาศว่าพบสารห้ามใช้ ซึ่งมีการจำหน่ายในศูนย์ความงาม จึงได้ร่วมกันขอหมายศาลเข้าตรวจค้น โดยได้มีหมายศาลแขวงธนบุรี ลงวันที่ 7 กันยายน 2553 เพื่อทำการตรวจค้นบริษัทดรีมเฮิร์บ จำกัด ตั้งอยู่ชั้น 2 และ 3 สนามกอล์ฟกัซซันพาร์ 3 เลขที่ 55 หมู่ 7 ถนนท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน

นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบพบว่าชั้น 2 เป็นสำนักงานของบริษัทดรีมเฮิร์บ จำกัด ส่วนชั้น 3 เป็นสถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางและยาผิดกฎหมาย ผลการตรวจค้น พบเครื่องจักรวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตหลายรายการ รวมทั้งวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและยา ซึ่งเครื่องสำอางที่ผลิตนั้นเป็นเครื่องสำอางที่ อย.เคยประกาศว่ามีการผสมสารห้ามใช้ที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ที่พบผิดกฎหมายมีหลายรายการและมีการส่งขายให้กับศูนย์ความงามต่าง ๆ เช่น ครีมทาหน้ายี่ห้อโอบี โอเรนทอล บิวตี้ เอ็นฮานเซอร์ (OB Oriental Beauty Enhancer)กระปุกสีฟ้า   ครีมโอบี โอเรนทอล ซันสกรีน (OB Oriental Sunscreen) ครีมทาหน้ายี่ห้อโอบี โอเรนทอล บิวตี้ ไลท์เทนนิ่ง (OB Oriental Beauty Lightening) เป็นต้น และพบยาที่บรรจุอยู่ในแผง วัตถุดิบที่รอบรรจุเป็นแคปซูลยา และแคปซูลยาที่รอบรรจุแผงอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น ยาที่อ้างว่ารักษาโรคมะเร็ง รักษาอัมพาต รักษาโรคภูมิแพ้ อ้างว่าสามารถฟอกเลือด สามารถถ่ายเลือด เป็นต้น เจ้าหน้าที่จึงได้ยึดของกลางทั้งหมด รวมทั้งเครื่องจักรอุปกรณ์การผลิต รวมทั้งหมดกว่า 100 รายการ มูลค่ากว่า 50 ล้านบาท และจะได้ส่งผลิตภัณฑ์ที่น่าสงสัย ตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อหาสารห้ามใช้ที่เป็นอันตราย
  
  
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่าได้แจ้งข้อหาผู้ผลิตแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ1.กรณีเครื่องสำอาง แจ้ง 3 ข้อหาดังนี้ 1.ข้อหาผลิตเครื่องสำอางปลอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.ข้อหาการแสดงฉลากเครื่องสำอางไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3.หากผลการวิเคราะห์พบสารห้ามใช้ เช่นไฮโดรควิโนน สารประกอบของปรอท หรือกรดวิตามิน เอ จะแจ้งข้อหาผลิตเพื่อขายเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัยในการใช้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.กรณียาแจ้ง 2 ข้อหาคือ 1. ข้อหาผลิตและขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2.หากส่งวิเคราะห์พบว่ายาดังกล่าวเข้าข่ายยาแผนปัจจุบันจะเพิ่มข้อหาผลิตและจำหน่ายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีและปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท  ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการต่อเนื่องโดยความร่วมมือของ อย. และ บก.ปคบ. รวมทั้งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากผู้บริโภคที่มีความปรารถนาดี 
                       
                          
ทั้งนี้ ทางอย.ยังยินดีได้รับเรื่องร้องเรียน ทั้งทางสายด่วนอย. 1556 หรือทางอีเมล์1556@fda.moph.go.thหรือตู้ปณ.1556 ปณฝ.กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือให้ข้อมูลด้วยตนเองที่ อย. หรือที่ บก.ปคบ. ตู้ ปณ.459 ปณศ.สามเสนใน พญาไท กทม.10400 และถ้าพบว่าข้อมูลที่ได้รับแจ้งเบาะแสเป็นความจริง และไม่จำเป็นต้องรอการพิสูจน์ในชั้นศาล  อย.จะมีรางวัลนำจับให้ด้วย
 
ด้านนายแพทย์พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอให้ผู้บริโภคเลือกซื้อเครื่องสำอางอย่างระมัดระวัง โดยซื้อจากร้านค้าที่มีหลักแหลางแน่นอน มีฉลากภาษาไทยที่มีข้อความบังคับครบถ้วน ได้แก่ ชื่อและประเภทผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบสำคัญ วิธีใช้ ชื่อและที่ตั้งแหล่งผลิต วันเดือนปีที่ผลิต ปริมาณสุทธิ ที่สำคัญต้องไม่ซื้อเครื่องสำอางที่อย.ประกาศว่าผสมสารห้ามใช้ ทั้งนี้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายชื่อผลิตภัณฑ์พร้อมรูปภาพที่เว็บไซด์ของอย. www.fda.moph.go.thสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคต่างๆ เช่นเบาหวาน มะเร็ง โรคภูมิแพ้หรืออัมพาต อย่าหลงเชื่อการโฆษณาหรือการขายยาที่ไม่ได้สั่งจ่ายโดยแพทย์ เพราะจะได้รับอันตรายและเสียโอกาสในการรักษาถูกวิธี
********************************************* 10 กันยายน 2553


   
   


View 11    10/09/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ