พยาบาลวิชาชีพประจำโรงพยาบาลท่าวังผา จ.น่าน คว้ารางวัลวิจัยยอดเยี่ยมกระทรวงสารณสุขประจำปี 2552 จากความสำเร็จในการคิดค้นพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยโรคเลือดฮีโมฟีเลีย ซึ่งมีปัญหาเลือดออกง่าย เป็นตลอดชีวิต โดยใช้ทีมสหวิชาชีพร่วมงาน ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และดูแลตนเองที่บ้านได้เหมาะสม ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล   ไม่เกิดปัญหาพิการ ค่ารักษาลดลงกว่าเดิมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ผู้ป่วยพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 96 
ในการประชุมวิชาการประจำปี 2553 เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา 12 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางจุฬารัตน์ สุริยาทัย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการจากโรงพยาบาลท่าวังผา จังหวัดน่าน ได้รับรางวัลผลงานวิชาการยอดเยี่ยม ประจำปี 2552 ของกระทรวงสาธารณสุข จากผลงานโดดเด่นการวิจัยเรื่อง การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจังหวัดน่าน ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันแบบสหวิชาชีพ มุ่งเน้นตอบสนองความจำเป็นของผู้ป่วย เพิ่มพลังให้ผู้ป่วย ญาติ และเจ้าหน้าที่สถานีอนามัยให้สามารถดูแลสุขภาพร่วมกันได้ ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   โดยได้เงินรางวัล 20,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณ
นางจุฬารัตน์ กล่าวว่า โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia)  หรือโรคเลือดออกง่ายหยุดยาก เป็นโรคที่เกิดจากการขาดสารช่วยให้เลือดแข็งตัวเรียกว่าแฟคเตอร์ 8 และ 9 (Factor VIII, IX) เป็นโรคเรื้อรัง ถ่ายทอดทางพันธุกรรม  เมื่อได้รับยีนโรคนี้ ฝ่ายหญิงจะไม่แสดงอาการของโรค แต่มียีนแฝงและถ่ายทอดไปสู่ลูกได้  โดยลูกชายจะแสดงอาการของโรค คือเลือดออกง่าย และหยุดยาก  ในประเทศไทย มีคนเป็นโรคฮีโมฟีเลียประมาณ 4,000คน  จำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ โรคนี้มีค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูงเนื่องจากต้องรักษาต่อเนื่องตลอดชีวิต   ซึ่งที่จังหวัดน่าน มีผู้ที่เป็นโรคนี้ 14 คน
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลน่าน ทำหน้าที่เป็นเพียงหน่วยบริการส่งต่อผู้ป่วยเท่านั้น เนื่องจากขาดแคลนแพทย์ พยาบาล ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะ ทำให้ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรักษาในต่างจังหวัดที่มีความพร้อมเช่นที่  อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ดังนั้นในปี 2550 โรงพยาบาลน่านจึงได้พัฒนาแนวทางดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ได้รับบริการอย่างทันท่วงทีภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด เนื่องจากโรคนี้มีความเสี่ยงความพิการสูง เพราะอาการของเลือดออกนั้น จะปรากฏภายในข้อต่างๆ ของร่างกาย  เมื่อแรกเริ่มมีอาการ ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดตึง ขัดๆที่บริเวณกล้ามเนื้อและข้อ  อาการจะรุนแรงมากขึ้น  มีข้อติด กล้ามเนื้อลีบ หรือเกิดภาวะข้อพิการได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยได้จัดตั้งกลุ่มผู้ป่วยโรคฮีโมฟิเลียน่านภายใต้มูลนิธิโรคเลือดออกง่ายฮีโมฟิเลียแห่งประเทศไทย โดยขอรับการปรึกษาสนับสนุนด้านวิชาการจากแพทย์ผู้เชียวชาญโรคเลือดจากโรงพยาบาลรามาธิบดี รวมทั้งชุดตรวจจำแนกชนิดของโรคภาคสนามจำนวน 30 ชุด และขึ้นทะเบียนผู้ป่วยทั้งหมดในโครงการหลักประกันตามสิทธิ์ผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง  และเปิดคลินิกให้บริการโรคฮีโมฟิเลีย ที่แผนกผู้ป่วยนอก เพื่อบริการตรวจสุขภาพผู้ป่วยโรคนี้ทั้งเรื่องสุขภาพฟัน การทำงานกระดูกและข้อ การให้คำปรึกษา ให้ความรู้แนะนำผู้ป่วยในการแลตัวเองตามแนวทางขององค์การฮีโมฟีเลียโลกและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 4 หลักการใหญ่ ดังนี้
 1.การป้องกันภาวะเลือดออก เสริมสร้างพลังผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลตนเอง ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่จะทำให้เลือดออก   การเลือกอาชีพที่เหมาะสม การตรวจสุขภาพช่องปาก การทำงานของข้อ 2.การรักษาในภาวะที่เลือดเริ่มออก จะเน้นรูปแบบการดูแลรักษาที่บ้าน (home – based care) โดยจ่ายยาแฟกเตอร์เข้มข้นให้ผู้ป่วยไปเก็บที่บ้านเพื่อนำมาใช้อย่างทันท่วงที ภายใน 1 ชั่วโมง พร้อมทั้งสอนผู้ป่วยและญาติในการดูแลดูแลเบื้องต้นเมื่อมีเลือดออกฉุกเฉิน สอนวิธีการฉีดยาแฟคเตอร์เข้าเส้นเลือดดำและประเมินภาวะเลือดออกก่อนตัดสินใจฉีดยา เช่น วัดรอบข้อที่บวม การประเมินความเจ็บปวด     และจัดยาสำรองไว้ที่สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชนที่มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนในความดูแล พร้อมใช้ทันทีสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินและเป็นอันตรายถึงกับชีวิต 3. การดูแลระบบข้อและกล้ามเนื้อในระยะยาว ตามหลักสากล เช่นการวัดมุมข้อ การยืดเหยียด การเอ็กซเรย์ การฝึกสอนการออกกำลังกาย การกายภาพบำบัด จัดระบบติดตามผู้ป่วยทางโทรศัพท์ ทีมงานเยี่ยมบ้านปีละ 1-2 ครั้ง   และ 4.การป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่นการแพ้ยา การเกิดสารต้านปัจจัยการแข็งตัวของเลือด  
 นางจุฬารัตน์กล่าวต่อว่า จากการวิจัยประเมินผลการดูแลผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลียในจังหวัดน่านในพ.ศ. 2551 หลังดำเนินการพัฒนาระบบมาแล้ว 12 เดือน ศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมด 13 คน อายุระหว่าง 6-41 ปี เป็นเด็ก 6-15 ปี จำนวน 5 คน และผู้ใหญ่ 8 คน อยู่ในระดับความรุนแรงมาก 8 คน ปานกลาง 4 คน และรุนแรงน้อย 1 คน มีรายได้ครอบครัวต่อเดือนเฉลี่ย 2,850 บาท โดยประเมินใน 6 เรื่องเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินการในปี 2550 ดังนี้ 1.ผู้ป่วยมีความรู้เกี่ยวกับโรคและการดูแลตนเองดีขึ้นร้อยละ 27 จากเดิมเฉลี่ย 7.50 เป็น 10.25 (คะแนนเต็ม 20)   2. ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ผู้ป่วยสามารถไปโรงเรียนได้ ทำงานได้  ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลเลย ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยนอนเฉลี่ยคนละ 1-2 ครั้งต่อปี   3. ค่ารักษาลดลงร้อยละ 44 จากเดิมปีละ 620,450บาท เหลือเพียง 344,468.95 บาท เฉลี่ย 26,497 บาท 4. ไม่มีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ยาเช่นแพ้ยา ซึ่งก่อนหน้าพบผู้ป่วยแพ้ส่วนประกอบของเลือด 2 ครั้ง 5 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจร้อยละ 96 ส่วนผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 92  6. ไม่มีรายงานความพิการของข้อเพิ่มขึ้น  โดยจำนวนครั้งการเจ็บป่วยด้วยฮีโมฟีเลียเฉลี่ย 1.25 ครั้งต่อเดือน ซึ่งมีผลให้ค่าใช้จ่ายลดลง คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 
การดูแลผู้ป่วยฮีโมฟีเลียจังหวัดน่านภายใต้ทรัพยากรที่จำกัดในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า นี้ สามารถพัฒนาและจัดระบบที่มีประสิทธิภาพได้ เพียงแต่ผู้ให้บริการเข้าใจและเข้าถึงปัญหาของผู้ป่วยและญาติ ซึ่งเป็นหัวใจของการบริการที่ดีต่อผู้ป่วย     ดังนั้นสถานบริการสาธารณสุขอื่นๆทั้งรัฐและเอกชน สามารถนำรูปแบบนี้ไปปรับปรุงใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฮีโมฟีเลียในพื้นที่ได้ ดิฉันและทีมงานโรงพยาบาลน่านยินดีและพร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย นางจุฬารัตน์ กล่าว   
*********************************** 5 สิงหาคม 2553
 


   
   


View 12    05/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ