นักวิชาการสาธารณสุข กรมควบคุมโรค สำรวจพบความครอบคลุมของวัคซีนในเด็กชั้นป.1 ร้อยละ 91 วัคซีนในชั้นป.6 ร้อยละ 94 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 95 สาเหตุอันดับ 1 เกิดจากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีด รองลงมาคือ เด็กกลัวเข็ม ไม่ไปโรงเรียนในวันที่เจ้าหน้าที่ไปให้บริการ แนะทุกจังหวัดติดตาม ควบคุม กำกับ และตรวจสอบการรายงานผลการใช้วัคซีนอย่างเข้มงวด
ในการประชุมวิชาการกระทรวงสาธารณสุขประจำปี 2553 เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา 12 สิงหาคม 2553 ที่โรงแรมรอยัล ภูเก็ต ซิตี้ อ.เมือง จ.ภูเก็ต นางสาวเอมอร ราษฎร์จำเริญสุข นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ จากกลุ่มโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค ได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ของปี 2552 โดยมีผลงานโดดเด่นในการวิจัยเรื่อง การสำรวจการได้รับวัคซีนในเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 6 พ.ศ. 2550”
นางสาวเอมอร กล่าวว่า ประเทศไทยมีการให้วัคซีนอย่างเป็นระบบมาตั้งแต่ปี 2520 ในกลุ่มเป้าหมายหลักอายุต่ำกว่า 1 ปีและหญิงมีครรภ์ ปัจจุบันมีการให้วัคซีนพื้นฐานเพื่อป้องกันโรครวม 10 โรค ได้แก่ วัณโรคในเด็ก โรคตับอักเสบบี โรคคอตีบ โรคไอกรน โรคบาดทะยัก โรคโปลิโอ โรคหัด โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน และโรคไข้สมองอักเสบ ปรากฏว่าเกือบทุกวัคซีนมีความครอบคลุมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ซึ่งเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับทั้งในสถานีอนามัย อสม.และประชาชน เป็นผลทำให้โรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนลดลงอย่างมาก และสามารถกวาดล้างไปได้สำเร็จ 1 โรคคือโปลิโอ ในปัจจุบันไม่พบผู้ป่วยโปลิโอมากว่า 13 ปี
นางสาวเอมอร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการให้วัคซีนในกลุ่มนักเรียน เริ่มให้ในระดับชั้นประถมปีที่ 1 ตั้งแต่ปี 2525 และชั้นประถมปีที่ 6 เมื่อปี 2529 โดยกำหนดให้วัคซีนชนิดรวมเข็มเดียวกัน3 ชนิดคือหัด คางทูม หัดเยอรมันหรือเอมเอ็มอาร์ (MMR)แก่นักเรียนชั้น ป.1 และวัคซีนรวม 2 ชนิดคือคอตีบ และบาดทะยักหรือวัคซีนดีที (DT) ในนักเรียนชั้นป.6 แต่ปรากฏว่ายังพบมีการระบาดของโรคหัดและคางทูมในนักเรียน ในหลายพื้นที่ จึงได้ทำการสำรวจความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนในกลุ่มนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และปีที่ 6 และหาสาเหตุของการไม่ได้รับวัคซีน โดยสุ่มใน 12 จังหวัดๆละ 30 โรงเรียน เก็บข้อมูลเดือนมกราคม มีนาคม 2550
ผลการสำรวจพบว่า ในกลุ่มเด็กป.1 ได้รับวัคซีนเอ็มเอ็มอาร์ครอบคลุมร้อยละ 91 ในกลุ่มเด็กป. 6 ได้รับวัคซีนดีที ครอบคลุมร้อยละ 94 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือร้อยละ 95 สาเหตุที่วัคซีนไม่ครอบคลุม อันดับ 1 เกิดจากเจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีดวัคซีน พบในเด็ก ป.1ร้อยละ 66จากโรงเรียน 21 แห่งและป.6ร้อยละ 41จากโรงเรียน 13 แห่ง รองลงมาคือ เด็กไม่มาโรงเรียนในวันที่เจ้าหน้าที่ไปให้บริการฉีด อาจเกิดจากกลัวเข็ม กลัวหมอ ในเด็กป.1 พบร้อยละ 16 และป.6 พบร้อยละ 32
 นางสาวเอมอร กล่าวอีกว่า การที่เจ้าหน้าที่ไม่เข้าไปฉีดวัคซีนให้นักเรียนในโรงเรียน ทำให้นักเรียนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค เป็นเหตุให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้น ดังนั้นทุกจังหวัดจึงต้องเร่งแก้ไขโดยการทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่อย่างเร่งด่วน ควรเพิ่มระบบการติดตาม ควบคุม กำกับ โดยดูจากการเบิกวัคซีน จำนวนวัคซีนที่ใช้ไป ประเมินผลการให้วัคซีนของสถานบริการจากการรายงานผลการปฏิบัติงานเป็นรายโรงเรียน เมื่อตรวจสอบพบว่ายังไม่ได้ให้บริการ ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบติดตามให้วัคซีนแก่เด็กโดยเร็ว
***************************************** 5 สิงหาคม 2553


   
   


View 12    05/08/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ