พร้อมทำประชาพิจารณ์ถามความคิดเห็นจากประชาชน โดยเฉพาะประเด็นเด็กท้องในวัยเรียน ก่อนเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และครม.             

               วันนี้ (12 กรกฎาคม 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์ ว่า คณะอนุกรรมการของคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ได้จัดทำร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว กฎหมายฉบับนี้มีความสอดคล้องใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในมาตรา 6 ที่ระบุว่า สุขภาพหญิงในด้านสุขภาพทางเพศ และสุขภาพของระบบเจริญพันธุ์ซึ่งมีความจำเพาะซับซ้อน และมีอิทธิพลของหญิงตลอดช่วงชีวิต ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม 2.เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ระบุไว้ว่า คนไทยทุกเพศทุกวัย จะต้องมีอนามัยการเจริญพันธุ์ที่ดี และ3.สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ โดยเฉพาะข้อตกลงที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ พ.ศ.2537 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ จึงจำเป็นต้องมีพ.ร.บ. คุ้มครองอนามัยการเจริญพันธุ์         

              นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ ได้รับรองและคุ้มครองสิทธิให้ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ให้ได้รับบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์อย่างเสมอภาค ทั่วถึง และมีคุณภาพ ซึ่งจะครอบคลุมการให้บริการของสถานพยาบาลทุกประเภท ทุกระดับ และทุกสังกัด ไม่ว่าจะสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัย หรือเอกชนก็ตาม รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ หลักใหญ่คือ สถานบริการจะต้องมีหน้าที่ให้คำปรึกษา และให้บริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้จะให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไม่ปฏิบัติการใดๆ ที่เป็นการขัดขวางต่อการลาคลอด การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การไม่ล่วงละเมิดสิทธิหรือคุกคามทางเพศ รวมทั้งจะต้องให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือสตรีที่มีครรภ์ สตรีที่ไม่พร้อมมีบุตรหรือไม่พร้อมเลี้ยงดูบุตรเป็นต้น

             ทั้งนี้ จะมีคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติหรือ กอช. 1 ชุด มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน ผู้ทรงคุณวุฒิ 14 คน และอธิบดีกรมอนามัยเป็นเลขานุการ เพื่อให้การรับรองสิทธิและการคุ้มครองสิทธิของประชาชนทุกเพศทุกวัยด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ ตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนกระทั่งเสียชีวิต

             นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ในวันนี้ที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุข ได้ให้ความเห็นประกอบเพิ่มเติม ในฐานะที่เป็นหน่วยบริการสาธารณสุขที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เช่น ประเด็นความครอบคลุมของสถานพยาบาลทุกระดับ ทุกประเภท เพื่อให้การบริการครอบคลุมทั่วถึงยิ่งขึ้น ประเด็นความเที่ยงตรงของการใช้คำในกฎหมายที่ยกร่างซึ่งเป็นรายละเอียดด้านเทคนิคการเขียนกฎหมาย เพื่อให้คณะอนุกรรมการนำไปประกอบการพิจารณาร่างกฎหมายฯ ให้สมบูรณ์ แต่ประเด็นสำคัญก็คืออยากให้มีการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายฉบับนี้ ก่อนที่จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ และที่ประชุมครม. เพื่อจะเร่งทำให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
            โดยเฉพาะในบางมาตราในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่นมาตรา 12 ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนที่ตั้งครรภ์สามารถศึกษาต่อได้หรือสามารถลาคลอดแล้วกลับมาศึกษาต่อได้ ที่ประชุมได้ให้ความเห็นแก่คณะกรรมการไปประกอบการพิจารณา ว่าควรหรือไม่อย่างไร ซึ่งมีความเห็นทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นการส่งเสริมค่านิยมให้เด็กในวัยเรียนตั้งครรภ์ แต่อีกด้านหนึ่งมีความเห็นว่าควรเปิดโอกาสให้เด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนได้มีโอกาสศึกษาต่อเช่นเดียวกับเยาวชนทั่วไป หากไปตัดโอกาสก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมเด็ก เพราะช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ในระบบเดิมที่มีการไล่เด็กออกจากโรงเรียนขณะตั้งครรภ์ เป็นวิธีการทางลบที่ลงโทษไปที่ตัวเด็กอย่างเดียวจนเด็กเสียอนาคต ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้ทำให้ตัวเลขเด็กที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนลดลง แต่กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นปัญหาเด็กหญิงแม่ เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมที่ต้องมาแก้ไข ซึ่งจะนำประเด็นนี้ไปทำประชาพิจารณ์ด้วยเช่นกัน
ล่าสุดนี้ ข้อมูลประเทศไทยมีสถิติหญิงตั้งครรภ์ปีละประมาณ 8 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปีประมาณร้อยละ 15 และมีเด็กหญิงแม่คือตั้งครรภ์ขณะที่อายุน้อยกว่า 15 ปีร้อยละ 1.1 หรือปีละประมาณ 10,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่ในวัยเรียน โดยอายุที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ของสตรีคืออายุมากกว่า 20 ปีขึ้นไป   
  *********************************** 12 กรกฎาคม 2553
 


   
   


View 9       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ