ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกชื่นชมไทย ที่สามารถควบคุมป้องกันการระบาดโรคไข้หวัดนกอย่างได้ผล ยกย่องฝีมืออาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) กว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ ว่าเป็นกำลังสำคัญได้ในหลายๆเรื่อง โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในทุกหลังคาเรือน นับเป็นแบบอย่างของโลก สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละท้องถิ่น วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2550) นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้แพทย์หญิงทิพย์วดี บำเพ็ญบุญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้บริหารองค์การอนามัยโลก นำโดยแพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ศึกษาดูงานการควบคุมป้องกันโรคไข้หวัดนกในหมู่บ้าน โดยอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)และดูงานการสาธารณสุขมูลฐาน ที่อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น แพทย์หญิงทิพย์วดี กล่าวว่า แพทย์หญิงมาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวกับพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2550 ที่ทำเนียบรัฐบาล แสดงออกถึงความประทับใจ และชื่นชมรูปแบบการดำเนินงานพัฒนาการสาธารณสุขของประเทศไทย ที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบของอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ซึ่งขณะนี้ทราบว่ามีกว่า 8 แสนคน ถือว่ามากที่สุดในโลก ร่วมกันดูแลสุขภาพประชาชนครอบคลุมทั้ง 12 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ทั้งในเขตชนบทและเขตเมือง ทำให้ประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาสุขภาพได้รวดเร็ว สอดคล้องกับแนวนโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่ต้องการพัฒนาระบบความเข้มแข็งทางสุขภาพและระบบการสาธารณสุขมูลฐาน เพื่อให้ความรู้ด้านการป้องกันโรค และการดูแลเมื่อเจ็บป่วยเล็กๆน้อยๆ เบื้องต้น โดยชาวบ้านด้วยกันเอง โดยเฉพาะการควบคุมและป้องกันโรคไข้หวัดนกและการป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่จากเชื้อที่อาจกลายพันธุ์ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกได้ชื่นชมประเทศไทยว่าทำได้ดีมาก ทั้งการควบคุมป้องกันในสัตว์ปีกและในคน มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน และมีระบบการดำเนินงานแบบบูรณาการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย นับเป็นตัวอย่างแก่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มีความมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยว่าเป็นประเทศต้นแบบในการจัดการปัญหาได้รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งมีระบบการเฝ้าระวังโรคที่ดำเนินการโดยอาสาสมัครสาธารณสุข เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ ประชาชน ผู้นำชุมชน และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ซึ่งเป็นระดับเล็กที่สุดและมีความสำคัญที่สุด เนื่องจากปัญหาการติดเชื้อไข้หวัดนกของประเทศไทยเกิดในเขตชนบท ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีกโดยเฉพาะไก่และเป็ดควบคู่กับวิถีชีวิตของชนบทมาแต่อดีต ขยายผลขึ้นมาถึงระดับประเทศ ทำให้สามารถตรวจสอบความผิดปกติได้รวดเร็ว และดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดได้ ทำให้องค์กรนานาชาติชื่นชมประเทศไทย และยกย่องให้เป็นประเทศตัวอย่างในเวทีการประชุมต่างๆระดับโลก สำหรับการระบาด ในรอบที่ 4 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ทำการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยมอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดในฐานะมิสเตอร์ไข้หวัดนกเป็น แกนหลักในการบริหารจัดการในระดับพื้นที่ และได้กำชับให้เฝ้าระวังการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างเข้มข้น เน้นกิจกรรม 6 เรื่อง ได้แก่ 1.ให้ อสม.ทุกพื้นที่ เฝ้าระวังสัตว์ปีกป่วย หรือตาย ในหมู่บ้าน และช่วยค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ เพื่อนำส่งรักษาต่อสถานพยาบาลสาธารณสุขโดยเร็ว 2.ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขติดตามสถานการณ์การระบาดในสัตว์ปีกอย่างใกล้ชิด หากพบสัตว์ป่วย หรือตายผิดปกติ ให้สงสัยว่ามีการติดเชื้อไข้หวัดนกไว้ก่อน และให้แจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และกรมควบคุมโรคทราบโดยด่วน 3.ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดจุดตรวจคัดกรองผู้ป่วยแยกออกจากผู้ป่วยทั่วไป ซักประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ และมีอาการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจทุกราย อย่างละเอียด ในรายที่สงสัยให้เก็บตัวอย่างหาเชื้อ และให้การรักษาโดยด่วนโดยไม่ต้องรอผลการตรวจยืนยัน 4.ให้ทีมควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วออกสอบสวนโรคทันทีที่รับแจ้งผู้ป่วยอยู่ในข่ายเฝ้าระวังไข้หวัดนก เพื่อป้องกันการติดเชื้อผู้ที่อยู่ร่วมบ้านและอยู่ในชุมชนเดียวกับผู้ป่วย และติดตามจนครบ 10 วัน พร้อมทั้งให้ความรู้ประชาชนในการป้องกันตัว 5.ให้ร่วมวางแผนการเฝ้าระวังป้องกันโรคร่วมกับเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ รวมถึงการเร่งรัดเฝ้าระวังความสะอาดอาหารและสิ่งแวดล้อมในฟาร์มสัตว์ปีก โรงงานแปรรูป และโรงฆ่าสัตว์ปีกทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงใกล้เทศกาลตรุษจีนให้เคร่งครัดเป็นพิเศษ 6.ให้สำรองยา เวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกในโรงพยาบาลทุกแห่งให้เพียงพอ นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้จัดการอบรมพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนทักษะของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านทั่วประเทศ โดยจัดซ้อมแผนปฏิบัติการเตรียมความพร้อมรับการระบาดของไข้หวัดนกในระดับตำบล ร่วมกับสถานีอนามัย องค์การบริหารส่วนตำบล และอำเภอ นำร่องอำเภอละ 1 ตำบล ทุกอำเภอในทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย ส่วนในระดับกระทรวงได้มีการซ้อมแผนเป็นระยะอยู่แล้ว และมีกำหนดจะซ้อมแผนครั้งต่อไปในต้นเดือนมีนาคม ที่จะมาถึงนี้ กุมภาพันธ์/5-6 *********************************** 2 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 7    02/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ