สาธารณสุข เตรียมหารือกรมบัญชีกลาง ไฟเขียวให้คลินิกเอกชนที่มีบริการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม ประเภทไม่รับผู้ป่วยค้างคืน สามารถเบิกค่าใช้จ่ายจากกรมบัญชีกลางได้ เพื่อช่วยยืดอายุผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ซึ่งขณะที่ทั่วประเทศมีเกือบ 100,000 ราย ร้อยละ 80 ต้องล้างไตทุกอาทิตย์ แต่ต้องเข้าคิวรอการฟอกไตที่สถานพยาบาลภาครัฐนาน 2-6 เดือน เพราะค่ารักษาถูกกว่าภาคเอกชน วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2550)นายแพทย์มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมคลินิกมูลนิธิพลตรีจำลองศรีเมืองเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม รามคำแหง 39 กรุงเทพมหานคร ว่า จากสถิติสาธารณสุขปี 2547 พบ ผู้ป่วยโรคไตจำนวน 108,215 รายคิดเป็นร้อยละ 15 ของผู้ป่วยโรคไตทั้งหมด เป็นผู้ป่วยไตวายเฉียบพลันจำนวน 16,227 ราย และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังจำนวน 91,988 ราย คิดเป็นร้อยละ 85 โรคไตเกิดจากสภาวะที่การทำงานของไตลดลงทำให้ร่างกายไม่สามารถขับของเสียออกมากับปัสสาวะได้ตามปกติจึงทำให้เกิดการสะสมของเสียในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะทุกส่วน โรคไตวาย มี 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดเฉียบพลันซึ่งเกิดจากการทำงานของไตลดลงอย่างเฉียบพลัน สามารถหายได้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และชนิดเรื้อรัง ไตทั้ง 2 ข้างสูญเสียการทำงานของแบบถาวร ไม่สามารถกรองของเสียออกจากร่างกายได้ ต้องใช้การรักษาโดยการล้างไตเพื่อลดการสะสมของเสียในร่างกาย มี 3 วิธีคือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างช่องท้อง และการผ่าตัดเปลี่ยนไต แต่ที่นิยมกันมากขณะนี้คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง และฟอกเลือดสัปดาห์ละ 2 ครั้งต่อคน นายแพทย์มงคล กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานพยาบาลที่มีในประเทศมีเครื่องฟอกไตไม่เพียงพอกับผู้ป่วย ขณะนี้มีผู้ป่วยโรคไตต้องรอคิวฟอกเลือดนาน 2-6 เดือน ทำให้เสียชีวิตระหว่างรอคิว ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายสนับสนุนให้ภาคเอกชนที่มีบริการเครื่องฟอกไตเทียมที่ได้มาตรฐาน ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการผู้ป่วยในราคาถูก อย่างเช่นคลินิกมูลนิธิพลตรีจำลองศรีเมืองเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียมเป็นคลินิกเอกชนที่รับล้างไตด้วยการฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม ในราคาครั้งละ 1,500 บาท ในขณะที่ค่า ฟอกไตในโรงพยาบาลเอกชนทั่วไปคิดครั้งละประมาณ 3,000 บาท ทำให้ผู้ป่วยต้องควักค่าใช้จ่ายสูงมาก หากเป็นข้าราชการจะเบิกได้ครั้งละไม่เกินครั้งละ 2,000 บาท จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตวายต้องพึ่งโรงพยาบาลภาครัฐ และต้องเข้าคิวรอเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องหาวิธีการที่จะเพิ่มความรวดเร็วให้ผู้ป่วยโรคไตวายระยะสุดท้ายได้รับบริการที่รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการทำหนังสือถึงกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2550 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ผู้ป่วยโรคไตที่เป็นข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายค่าฟอกไตที่คลินิกของมูลนิธิพลตรีจำลองศรีเมืองเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียมได้ นำร่องเป็นแห่งแรกในประเภทไม่เตียงผู้ป่วยรับค้างคืน ซึ่งเงื่อนไขของกรมบัญชีกลางกำหนดว่าสถานพยาบาลเอกชนที่มีบริการฟอกไตที่จะเบิกค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์จะต้องมีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 25 เตียงขึ้นไป มีผลใช้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2549 แต่เนื่องจากปัจจุบันการฟอกเลือดด้วยไตเทียมขณะนี้ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลแล้ว โดยให้กองการประกอบโรคศิลปะตรวจสอบมาตรฐานสถานพยาบาลแล้ว และพบว่าอยู่ในเกณฑ์ได้มาตรฐานทั้งบุคลากร เครื่องมือแพทย์ ระบบบริการ ทุกประการ จึงคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา ทางด้านนายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า ปัจจุบันมีสถานพยาบาลเอกชนที่ผู้ป่วยสามารถเบิกค่าใช้จ่ายฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมทั้งหมด 178 แห่ง และมีมีคลินิกไตเทียมทั่วประเทศทั้งหมด 12 แห่ง โดยคลินิกมูลนิธิพลตรีจำลองศรีเมืองเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียมเป็นคลินิกเอกชนที่รับอนุญาติให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลประเภทไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน มีเตียงสำหรับล้างไตทั้งหมด 16 เตียงสามารถรับผู้ป่วยได้วันละ 28 ราย และมีแผนเพิ่มจะเปิดเพิ่มอีก 46 เตียงเพื่อให้รองรับผู้ป่วยได้มากขึ้น กุมภาพันธ์/3-4 *********************** 2 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 9    02/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ