ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ยืนยันสาเหตุการเสียชีวิตของชาวปกากะญอ ที่บ้านแม่หลุ เชียงใหม่ 2 ราย ไม่ใช่การติดเชื้อจากไข้หวัดนกแน่นอน เพราะไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตาย อาการไม่เข้าข่าย แต่เฝ้าระวังอีก 10 วัน โดยผลการตรวจเฝ้าระวังผู้ป่วยทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ยังไม่พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนแต่อย่างใด กรณีนายพร้อมพล สัมพันธโนอนุตโร นายกสมาคมปกากะญอเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้เข้าร้องเรียนต่อสื่อมวลชน ขอให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและปศุสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจหาเชื้อไข้หวัดนกในหมู่บ้านแม่หลุ หมู่ที่ 2 ต.กองแขก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ หลังพบคนในหมู่บ้านมีอาการป่วยและเสียชีวิต 2 รายไล่เลี่ยกันในเวลา 3 วัน และแจ้งว่าบ้านทุกหลังจะเลี้ยงไก่ปล่อยไว้ตามธรรมชาติ ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีไก่ป่วยตายจำนวนหนึ่งนั้น เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นับเป็นเรื่องดีที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้หวัดนก โดยช่วยกันสอดส่องและติดตามปัญหาในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด แต่เหตุการณ์ดังกล่าว ขอยืนยันว่าผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย ไม่ได้ป่วยและเสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนกแน่นอน ซึ่งหลังได้รับรายงาน กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว จากสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่แจ่ม เข้าไปสอบสวนโรคที่หมู่บ้านแม่หลุทันที ผลการสอบสวนพบว่าทั้ง 2 ราย ไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไข้หวัดนก เนื่องจากไม่มีประวัติการสัมผัสสัตว์ปีก ที่หมู่บ้านไม่มีสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ และไม่ได้เดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก ขณะนี้กำลังสอบสวนหาสาเหตุการตายที่แท้จริงต่อไป ทั้งนี้ ผลตรวจคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ หรือมีอาการปอดอักเสบที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2550 ได้รับรายงานทั้งหมด 352 ราย จาก 43 จังหวัด เฉพาะวันที่ 31 มกราคม 2550 มีผู้ป่วยเฝ้าระวัง 25 ราย จาก 9 จังหวัด ได้แก่ สุพรรณบุรี 14 ราย กรุงเทพฯ นนทบุรีและนครสวรรค์จังหวัดละ 2 ราย ปทุมธานี อ่างทอง ราชบุรี กาญจนบุรีและบุรีรัมย์ จังหวัดละ 1 ราย ทราบผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว 314 ราย ยังไม่พบรายใดติดเชื้อไข้หวัดนก เป็นเพียงไข้หวัดใหญ่และไข้หวัดทั่วไป เหลือรอผลการตรวจอีก 38 ราย ด้านดร.ทันตแพทย์สุรสิงห์ วิศรุตรัตน มิสเตอร์ไข้หวัดนกจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่เสียชีวิตรายแรกชื่อ นายพาเดอะ เจนจิตร์สันติ อายุ 79 ปี ไปตรวจที่ร.พ.แม่แจ่ม เมื่อ 16 มกราคม 2550 ด้วยอาการไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอเป็นบางครั้ง และถ่ายเหลวเป็นน้ำ 3 ครั้ง ไม่มีประวัติสัมผัสสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติ ในบ้านเลี้ยงสัตว์ปีก 15 ตัว แต่มีโรคประจำตัวคือ ความดันโลหิตสูงและหอบหืด รับยาที่ร.พ.แม่แจ่มเป็นประจำ หลังการตรวจแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ได้ให้ยาปฏิชีวนะ ยาลดความดันโลหิต ยาลดไข้ และผงน้ำตาลเกลือแร่ กลับไปกินที่บ้าน หลังจากนั้นผู้ป่วยอาการทรุดลง แต่ไม่ได้มาพบแพทย์ และเสียชีวิตที่บ้านเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2550 ส่วนนายพะแค จันทร์กลากุล อายุ 52 ปี เสียชีวิตที่บ้านในวันที่ 29 มกราคม 2550 จากการสอบถามญาติพบว่าเริ่มป่วยวันที่ 23 มกราคม 2550 ด้วยอาการปวดหลัง ปวดเอว ไม่มีไข้ ไม่ไอ ญาติพาไปรักษาที่คลินิก จากการติดตามประวัติที่คลินิก พบผู้เสียชีวิตไปตรวจด้วยอาการเจ็บคอ ความดันโลหิตปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ปีกป่วยตาย อย่างไรก็ตาม ได้ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ความรู้ประชาชนในหมู่บ้าน เพื่อลดความวิตกกังวลชาวบ้าน และเฝ้าระวังในหมู่บ้านอีก 10 วัน กุมภาพันธ์ /1 ******************** 1 กุมภาพันธ์ 2550


   
   


View 9    01/02/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ