สาธารณสุข เผยผลการตรวจสุขภาพคนไทย อายุ 15 ปี ขึ้นไป อยู่ในขั้นน่าห่วง พบมีปัญหาความดันโลหิตสูงถึง 11ล้านคน หรือพบ 1 คนในเกือบทุกๆ 5 คน สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความอ้วน โรคความดันโลหิตสูงถือได้ว่าเป็นมหันตภัยเงียบเนื่องจากช่วงแรกไม่แสดงอาการ ผู้เป็นโรคจึงไม่ทราบว่าเป็นเพราะยังรู้สึกปกติ ทำให้ไม่ได้รักษา เสี่ยงพิการและเสียชีวิตจากเส้นเลือดสมองแตก หัวใจขาดเลือด ไตวาย แนะการป้องกันไม่ให้เกิดโรคง่าย ๆ คือ ลดเค็ม เพิ่มกินผัก ออกกำลังกาย และคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินพิกัด
วันนี้ (24 พฤษภาคม 2553)ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดงานรณรงค์ “วันความดันโลหิตสูง” ประจำปี 2553 เพื่อให้บุคลากรสาธารณสุข ประชาชนทั่วไป รวมทั้งกลุ่มเสี่ยง ตระหนักถึงภัยอันตรายของโรคความดันโลหิตสูง โดยสมาคมความดันโลหิตสูงโลก กำหนดประเด็นรณรงค์วันความดันโลหิตสูงประจำปีนี้ว่า “Healthy Weight Healthy Blood Pressure” สำหรับประเทศไทย ใช้ “น้ำหนักเหมาะ ความดันดี ชีวีมีสุข” เน้นประชาชนลดกินอาหารรสเค็ม เพิ่มกินผัก ควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกาย เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง
![](/ops/iprg/userfiles/24May53_PanaSiri Dun_3.jpg)
ดร.พรรณสิริกล่าวว่า ขณะนี้โรคความดันโลหิตสูงกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก เมื่อป่วยแล้วรักษาไม่หายขาด ล่าสุดสมาคมความดันโลหิตสูงโลก รายงานประชากรทั่วโลกป่วยเป็นโรคนี้กว่า 1,500 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดประมาณ 6,000 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 7 ล้านคน สำหรับไทย ผลสำรวจสภาวะสุขภาพประชากรไทยล่าสุดในปี 2547 อยู่ในเกณฑ์น่าห่วง พบว่าประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีประมาณ 50 ล้านคน พบผู้ป่วยประมาณ 11 ล้านคน กล่าวได้ว่าในเกือบทุกๆ 5 คน จะเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1 คน โดยพบในผู้ชายร้อยละ 23 ผู้หญิงร้อยละ 21 พบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมาภาคกลาง กทม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ โดยในรอบ 10 ปีมานี้ตั้งแต่พ.ศ.2541-2551 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว
![](/ops/iprg/userfiles/24May53_PanaSiri Dun_5.jpg)
ดร.พรรณสิริ กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เกิดมาจากหลายปัจจัยเสี่ยงร่วมกันที่สำคัญ คือ การมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน กินเค็ม ขาดการออกกำลังกาย ผลสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อในประชากรอายุ 15-74 ปี โดยกรมควบคุมโรคในปี 2550 พบว่ามีน้ำหนักเกินและอ้วนร้อยละ 23 มีรอบเอวเกินร้อยละ 21 กินผักและผลไม้เพียงพอคือ 5 หน่วยมาตรฐานขึ้นไปต่อวัน ร้อยละ 23 ออกกำลังกาย 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 38 ดื่มสุราร้อยละ 36 สูบบุหรี่ร้อยละ 22 โดยคนในกทม.มีปัญหาน้ำหนักตัวเกิน อ้วนและรอบเอวเกินสูงที่สุด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบปัญหาเรื่องการสูบบุหรี่หรือยาสูบสูงสุด ส่วนภาคเหนือพบปัญหาเรื่องการดื่มสุราสูงสุด
![](/ops/iprg/userfiles/24May53_PanaSiri Dun_6.jpg)
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพ และป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โดยยึดหลัก ลดกินอาหารรสเค็ม ชิมอาหารก่อนปรุง ไม่หวานไม่เค็มไม่มัน เพิ่มการรับประทานผักโดยรับประทานหลากสีและชนิดลดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสมตามวัย ควบคุมรอบเอวในผู้ชายไม่ให้เกิน 90เซนติเมตร ผู้หญิงไม่เกิน 80เซนติเมตรและออกกำลังกายอย่างน้อย 30นาทีต่อวัน สัปดาห์ละ 5วัน และควรตรวจวัดความดันโลหิตเป็นประจำทุกปี
ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าเรื่องที่น่าเป็นห่วง คือโรคความดันโลหิตสูงช่วงแรกไม่แสดงอาการ ผู้เป็นโรคยังรู้สึกปกติดี จึงไม่ได้ดูแลรักษา ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงนี้ หากไม่ได้รักษาหรือควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะเกิดปัญหากับอวัยวะสำคัญตามมาอีกหลายโรคในคนคนเดียว เช่นโรคหัวใจขาดเลือด โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ไตวาย เป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้
นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงแล้ว ขอให้ไปรักษาและต้องพบแพทย์อย่างต่อเนื่องตามนัด และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะโรคนี้รักษาไม่หายขาดต้องดูแลเรื่องการกิน การออกกำลังกาย ควบคุมน้ำหนัก ประกอบกับการกินยาเพื่อควบคุมอาการให้ดีขึ้น มีคนจำนวนมากเข้าใจผิดว่า เมื่อกินยาสักระยะหนึ่งแล้วความดันโลหิตเป็นปกติแล้วก็จะเลิกกินยาได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก เพราะหากกินยาไม่เป็นไปตามแพทย์สั่ง จะทำให้หัวใจทำงานหนัก อาการโรคกำเริบรุนแรง เป็นโรคหัวใจโต หรือเส้นเลือดในสมองแตก หากไม่เสียชีวิต ก็จะพิการเป็นอัมพาตได้
สำหรับกิจกรรมเนื่องในวันโรคความดันโลหิตสูงในวันนี้ประกอบด้วย นิทรรศการความรู้เรื่องโรคความดันโลหิตสูง การป้องกัน ควบคุมโรค บริการตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด การบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านโภชนาการ การออกกำลังกาย สุขภาพจิต การหยุดสูบบุหรี่และการลดการดื่มสุรา เสวนาวิชาการ และการแสดงของศิลปินดารา
*************************************** 24 พฤษภาคม 2553