สธ.เปิดตัว "รถตรวจสุขภาพสูงวัยเคลื่อนที่" ให้บริการเชิงรุก 6 ด้าน เพิ่มการเข้าถึงสุขภาพได้ปีละกว่า 2 หมื่นคน
- สำนักสารนิเทศ
- 178 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้าสู่เป้าหมายคนไทยทุกช่วงวัย 38 ล้านคน ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุข จัดโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ “อุตรดิตถ์ – พิษณุโลก” เผย เขตสุขภาพที่ 2 อสม.สอนประชาชนเรียนรู้นับคาร์บได้แล้วกว่า 1.6 ล้านคน ส่วนคลินิก NCDs รักษาหาย ช่วยผู้ป่วยเบาหวานหยุดยา/ลดยาได้ 1,403 คน ลดค่าใช้จ่ายได้ 10,879,570 บาท/ปี
วันนี้ (23 พฤษภาคม 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 2 เปิดโครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข “อสม. มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” เขตสุขภาพที่ 2 ที่ โรงพยาบาลพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ และ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก โดยมีผู้บริหารส่วนราชการ บุคลากรเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. เข้าร่วมทั้งสองแห่งกว่า 2,500 คน
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า โครงการบริการทุกช่วงวัย ด้วยความห่วงใยจากกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้แนวคิด “อสม. มั่นคง สาธารณสุขเข้มแข็ง เพื่อคนไทยห่างไกล NCDs” มีเป้าหมายให้คนไทยทุกช่วงวัย 38 ล้านคน ได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ คัดกรอง ป้องกัน และการดูแลรักษาปัญหาสุขภาพที่สำคัญ รวมถึงรับมือความท้าทายด้านสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ที่พบมากในผู้สูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย มีถึง 14 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของประชากร รวมทั้งปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ เช่น การมองเห็น สุขภาพช่องปาก และการได้ยิน เป็นต้น โดยโครงการนี้ เป็นการจัดบริการเชิงรุกที่มุ่งเน้นจัดการปัญหาโรค NCDs อย่างยั่งยืน สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยง ตลอดจนลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน
ด้านนายแพทย์สุภโชค กล่าวเพิ่มเติมว่า เขตสุขภาพที่ 2 ได้พัฒนาศักยภาพ อสม. ให้เป็น อสม.ครู ข. ที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค NCDs และการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ให้เข้าสู่ระยะสงบ รวมถึงนำความรู้ในการดูแลสุขภาพ/การนับคาร์บไปแนะนำให้กับประชาชน ทำให้รับรู้สถานการณ์สุขภาพของตนเอง รู้จักการป้องกันก่อนเกิดโรค และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม โดยปัจจุบัน 5 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 2 (ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์) มีประชาชนเรียนรู้การนับคาร์บแล้ว 1.6 ล้านคน หรือร้อยละ 75 ของประชาชนอายุ 10 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้ง NCDs Remission Clinic, NCDs Prevention center และศูนย์คนไทยห่างไกล NCDs ครบทุกหน่วยงานตามเป้าหมาย โดยมีผู้ป่วยเบาหวานที่สามารถหยุดยาได้ 587 คน ลดยาได้ 816 คน ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 10,879,570 บาท/ปี
สำหรับโครงการบริการทุกช่วงวัยฯ ที่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และ จังหวัดพิษณุโลก ในวันนี้ มีการจัดคลินิกบริการประชาชนจำนวน 11 คลินิก/กิจกรรม ได้แก่ 1.โรคอ้วน 2.NCDs 3.โรคไต 4.โรคหลอดเลือดสมอง/โรคหลอดเลือดหัวใจ 5.ต้อกระจกและจอประสาท 6.ตรวจมะเร็งปากมดลูก/ฉีดวัคซีน HPV 7.ผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS) 8.มอบเครื่องช่วยฟัง 9.ผ่าตัดนิ้วล็อค 10.ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และ 11.คลินิกการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมทั้งมอบแว่นตาให้กับผู้สูงอายุ จำนวน 100 อัน และเครื่องช่วยฟัง จำนวน 3 เครื่อง มีผู้เข้ารับบริการในคลินิกต่างๆ ประมาณ 2,000 คน
*********************23 พฤษภาคม 2568