เจ้าคณะจังหวัดลำปางและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิด “โครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย” ภาคเหนือ ณ จังหวัดลำปาง มุ่งส่งเสริมพระสงฆ์ดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดการป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุม รวดเร็ว ตั้งเป้าถวายการตรวจคัดกรองโรค NCDs และระบุพิกัดการเจ็บป่วยของพระสงฆ์ทั่วประเทศให้ได้ร้อยละ 80 พร้อมเปิดโครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพผู้ป่วยโรคไต ลดป่วย ลดตาย ลดภาระงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ

      วันนี้ (2 พฤษภาคม 2568) ที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จังหวัดลำปาง พระจินดารัตนาภรณ์เจ้าคณะจังหวัดลำปาง เจ้าอาวาสวัดพระแก้วดอนเต้า สุชาดาราม พระอารามหลวง ประธานฝ่ายสงฆ์ และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานฝ่ายฆราวาส เปิดโครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย ภาคเหนือ ณ จังหวัดลำปาง โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 คณะสงฆ์ ผู้บริหาร ประชาชน และภาคีเครือข่ายสุขภาพ เข้าร่วมกว่า 1,500 คน

       นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันพระสงฆ์ไทยเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs จำนวนมาก กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเต็มที่ โดยในปีงบประมาณ 2568 นี้ ได้จัดโครงการขับเคลื่อนพระสงฆ์ปลอดโรค NCDs สุขภาพดีทั่วไทย ตั้งเป้าหมายถวายการตรวจคัดกรองโรค NCDs และระบุพิกัดการเจ็บป่วยโรค NCDs ของพระสงฆ์ให้ได้ ร้อยละ 80 ของจำนวนพระสงฆ์ทั่วประเทศ เพื่อให้พระสงฆ์สามารถดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างเหมาะสม ลดการป่วยด้วยโรค NCDs และพระสงฆ์ที่เจ็บป่วยเข้าถึงการดูแลสุขภาพได้ครอบคลุม รวดเร็ว และมีคุณภาพ ซึ่งการจัดกิจกรรมพื้นที่ภาคเหนือในวันนี้ ประกอบด้วย การตรวจสุขภาพและการถวายความรู้พระสงฆ์ การส่งเสริมป้องกันโรค NCDs และการนับคาร์บการถวายชุดตาลปัตรพระคิลานุปัฏฐากรอบรู้สุขภาพ ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เขตสุขภาพที่ 1, 2, 3 การแสดงนิทรรศการของกรมวิชาการ สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัดในภาคเหนือ

      นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เปิดโครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” ซึ่งมุ่งดูแลโรคไตเรื้อรังที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขและเป็นภาระด้านงบประมาณของประเทศโดยคาดว่ามีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทุกระยะประมาณ 10,000,000 คน และผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมค่ารักษามากกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี สาเหตุหลักมากกว่าครึ่งเกิดจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คือ โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง โครงการ “รักษ์ไต ล้านนา R1” จึงมุ่งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยโรคไต ให้มีส่วนร่วมในการดูแลรักษาตนเอง มีเจ้าหน้าที่ให้ความรู้และคำแนะนำในเรื่องต่างๆ เช่น อาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา และมีการติดตามผู้ป่วยเป็นระยะ จุดเด่นของโครงการ คือ การออกแบบให้เจ้าหน้าที่สามารถนำไปใช้งานได้ง่าย ศึกษาด้วยตนเองได้ ซึ่งจากการดำเนินงานในระยะเริ่มต้น พบว่าผู้ป่วยมีการปรับพฤติกรรมสุขภาพไปในทางที่ดีขึ้น จึงมีเป้าหมายที่จะขยายผลไปยังทุกหน่วยบริการสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 1 ต่อไป

******************************************** 2 พฤษภาคม 2568



   
   


View 490    02/05/2568   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ