กรมการแพทย์แผนไทยฯ แนะ 5 สมุนไพรช่วยบำรุงผิวพรรณ หลังเทศกาลสงกรานต์
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
- 92 View
- อ่านต่อ
วานนี้ (10 เมษายน 2568) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มอบหมายให้นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นผู้แทนเข้าร่วมพิธีเปิดศูนย์อำนวยการป้องกัน และลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พร้อมด้วย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พลตำรวจเอกไกรบุญ ทรวดทรง รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนกระทรวงคมนาคม ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องประชุม 1 ปภ. อาคาร 3 ชั้น 5 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
โดยนายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล เป็นผู้แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แถลงแนวทางการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2568 ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้ดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิบัติการทางการแพทย์และสาธารณสุข ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการดูแลรักษาพยาบาลกับประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งประเด็นป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เน้นประเด็น “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ กลับบ้านปลอดภัย ใช้อุปกรณ์นิรภัยตลอดการเดินทาง”
สำหรับเรื่องดื่มไม่ขับ กระทรวงสาธารณสุขมีการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การให้ อ.ส.ม. ร่วมดำเนินการทั้งเชิงรุกในชุมชน และร่วมคัดกรองผู้มึนเมาที่ด่านชุมชน รวมทั้งการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดเพื่อใช้บังคับคดี และประเด็นง่วงไม่ขับ จากการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่าการหลับในเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ให้ความสำคัญ รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงการหลับใน ซึ่งอาจมีสาเหตุจากความเหนื่อยล้า สภาพร่างกาย หรือโรคประจำตัวและยา แนะนำให้ประชาชนผู้ขับขี่ เตรียมตนเองให้พร้อมก่อนเดินทาง นอนหลับให้เพียงพออย่างน้อย 7 - 9 ชั่วโมง หากขับรถทางไกล ควรจอดพักรถในที่ปลอดภัยทุก 2 ชั่วโมง เพื่อผ่อนคลายอิริยาบถ ลดความเมื่อยล้า และหากมีอาการง่วงขณะขับขี่ อย่าฝืน ควรหาผู้ขับขี่แทน หรือจอดพักในที่ปลอดภัย และขอเน้นเรื่องการใส่หมวกนิรภัย และคาดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคร่วมกับกรมการขนส่งทางบกในการดำเนินการมาตรการ “รถตู้โดยสารสาธารณะปลอดภัย” โดยขอให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสภาพรถและสังเกตและรับฟังอาการผิดปกติของผู้โดยสาร และให้คำแนะนำสำหรับประชาชน หากขณะโดยสารมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน มึนงง ง่วงนอนผิดปกติ หายใจลำบาก ระคายเคืองตาหรือทางเดินหายใจ โดยเฉพาะหากมีอาการพร้อมกันหลายคน อาจเป็นสัญญานของการได้รับแก๊สพิษ หรือภาวะขาดออกซิเจน ผู้โดยสารควรรีบแจ้งพนักงานขับรถ เพื่อหยุดรถในที่ปลอดภัยและลงจากรถไปยังที่มีอากาศถ่ายเท และติดต่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน สายด่วน 1669
*********************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
11 เมษายน 2568