วันนี้(12 เมษายน 2553)ที่ กระทรวงสาธารณสุข นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์การชุมนุมโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สี่แยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สรุปมีผู้บาดเจ็บ 863 ราย เสียชีวิต 20 ราย โดยผู้บาดเจ็บขณะนี้กลับบ้านได้ตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้รวม 551 ราย ที่เหลืออีก 312 ราย ยังนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 25 แห่ง โดยเป็นพลเรือน 148 ราย ทหาร 164 นาย สำหรับผู้เสียชีวิตที่ยืนยัน 20 ราย เป็นพลเรือน 15 ราย ทหาร 5 ราย ในจำนวนนี้เป็นทหารยศพันเอก 1 ราย เสียชีวิตจากการโดนระเบิด อีก 4 นายเสียชีวิตจากถูกยิง และในส่วนของพลเรือนมี 1 รายเป็นนักข่าวชาวญี่ปุ่น

ตัวเลขที่มีคำถามเข้ามาในช่วงหลังเกี่ยวกับผู้เสียชีวิตอีก 1 ราย ขณะนี้โรงพยาบาลรามาธิบดีได้รับศพไว้อยู่ในขั้นตอนชันสูตร ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ยังไม่ยืนยันว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ที่สี่แยกคอกวัว เนื่องจากโรงพยาบาลรามาฯ ให้ข้อมูลว่าพบศพที่บริเวณสวนสัตว์ดุสิต เป็นจุดที่ห่างจากจุดเกิดเหตุที่สี่แยกคอกวัว ยังไม่สามารถระบุว่าได้ว่าเสียชีวิตเพราะเหตุใด ต้องรอผลการชันสูตรก่อน หากใช่ตัวเลขผู้เสียชีวิตก็จะเป็น 21 ราย หากไม่ใช่ตัวเลขจะอยู่ที่ 20 รายเท่าเดิม
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บ กระทรวงสาธารณสุขจะรับผิดชอบ ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพจิตนั้น มีรายงานจากกรมสุขภาพจิต พบว่าทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อุบัติภัยเกิดขึ้นไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ก็จะมีตัวเลขผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ประมาณร้อยละ 2 จะมีอาการซึมเศร้า ทางกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จะเข้าไปเยียวยาและดูแลครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยจะประสานกับทุกโรงพยาบาล ทั้งผู้ที่บาดเจ็บที่ยังนอนในโรงพยาบาล รวมทั้งที่กลับบ้านไปแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม มีผลสำรวจของกรมสุขภาพจิต สำรวจในหัวข้ออารมณ์ทางการเมืองของประชาชน ในช่วงวันที่ 27-31 มีนาคม 2553 สอบถามประชาชนทั่วไปจำนวน 1,131 ตัวอย่าง ในเรื่องระดับอารมณ์ทางการเมืองแบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1.อารมณ์ปกติ เมื่อรับข้อมูลทางการเมืองใดๆแล้วไม่มีอารมณ์ พบร้อยละ 26.60 ระดับที่ 2.อารมณ์ปานกลาง คือเมื่อรับข้อมูลทางการเมืองแล้ว ยอมรับได้ สามารถแยกแยะด้วยเหตุผลว่าเชื่อไม่เชื่อ มีร้อยละ 33.51 และระดับที่ 3.อารมณ์รุนแรง เมื่อรับข้อมูลทางการเมืองแล้ว มีอารมณ์เหนือเหตุผล พบร้อยละ 29.89
สำหรับแบบสำรวจระดับทางอารมณ์ของประชาชนของกรมสุขภาพจิตดังกล่าว จัดทำเพื่อให้ประชาชนสามารถประเมินตนเองได้ โดยใช้คำถามว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาท่านมีอารมณ์ลักษณะนี้หรือไม่ ให้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่หรือไม่แน่ใจ   มีทั้งหมด 5 คำถาม ดังนี้ คำถามที่ 1.มีอารมณ์เสียเสมอเมื่อคุยเรื่องการเมือง คำถามที่2.เมื่อฟังความเห็นทางการเมืองจากใครแล้วก็จะไม่เห็นด้วย เถียงเสมอ คำถามที่ 3.หมกมุ่นเรื่องการเมืองจนลืมบ้านฉัน ใช่หรือไม่ คำถามที่4.มีความกลัวจะเกิดเหตุร้ายแรงกับบ้านเมืองตลอดเวลา ใช่หรือไม่ และคำถามที่ 5.
พยายามโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นด้วยเรื่องบ้านเมืองกับตัวเองเสมอหรือตลอดเวลา ถ้าตอบว่าใช่ ให้ 2 คะแนน ถ้าไม่ใช่ 0 คะแนน ไม่แน่ใจ 1คะแนน
ตามผลการสำรวจตนเองนี้ ถ้าได้คะแนน 0-2 ถือว่าเป็นอารมณ์ทางการเมืองปกติ คะแนน 3-5 อารมณ์ปานกลาง คะแนน 6-10 อารมณ์รุนแรง ซึ่งมีข้อแนะนำจากกรมสุขภาพจิต ว่า หากทำแบบทดสอบแล้ว พบว่าอยู่ในระดับอารมณ์รุนแรง หรืออยู่ในระดับปานกลางและเสี่ยงจะรุนแรง ให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรม เช่น การดูโทรทัศน์ต่อเนื่องเกินกว่า 30 นาที -3 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงไปทำกิจกรรมอื่นๆ หรือโทรปรึกษาทางสายด่วนของกรมสุขภาพจิต หมายเลข 1323 ได้ ในช่วงที่ผ่านมา มีผู้โทรศัพท์มาขอคำปรึกษาปัญหาความเครียดทางการเมือง ค่อนข้างน้อย จำนวนน้อยกว่าร้อยละ 5 
************************** 12 เมษายน 2553
 
 


   
   


View 14    12/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ