เน้นย้ำให้แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ประจำห้องฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเตือนประชาชน อย่านำน้ำในคลองมาเล่นสงกรานต์ ชี้อาจทำให้ตาแดง ตาอักเสบได้ 

 วันนี้ (8 เมษายน 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์ชาตรี เจริญชีวะกูล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ร่วมกันแถลงข่าว “การเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์รองรับอุบัติเหตุเทศกาลสงกรานต์  2553”

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวันปีนี้  คาดว่าประชาชนจะมีการเดินทางใช้รถ ใช้ถนนเพิ่มขึ้น เพื่อท่องเที่ยวหรือกลับบ้าน ทำให้มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง  จึงมีการรณรงค์ 10 วันอันตรายช่วงสงกรานต์ สถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2552ที่ผ่านมา มีผู้บาดเจ็บ 4,332 ราย เสียชีวิต 373 ราย ร้อยละ 81.90 เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ สาเหตุหลัก ได้แก่ เมาแล้วขับร้อยละ 40.66 ขับรถเร็วร้อยละ 19.69 ขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดร้อยละ 10.96 ทั้งนี้ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 25 ปี ร้อยละ 43 โดยแยกเป็นกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 29.22 และอายุระหว่าง 20-25 ปี ร้อยละ 13.90 จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บในเทศกาลสงกรานต์ในปี 2552 จัดเป็นกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุด และสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการดื่มสุรา ซึ่งจากการประเมินค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ กรณีมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรช่วงสงกรานต์ในปี 52 มูลค่าประมาณ 5,289 ล้านบาท

รัฐบาลได้กำหนดให้อุบัติเหตุทางถนนเป็นวาระแห่งชาติ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการเพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ได้กำหนดดำเนินงานเข้มข้นในช่วงวันที่ 12–18 เมษายน 2553  และกำหนดเป้าหมายให้ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5 

                                  

ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะเริ่มรณรงค์ตั้งแต่วันที่ 9 – 18 เมษายน 2553 ดำเนินการ 3 มาตรการสำคัญคือ1. รณรงค์ประชาชนลดละดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดผ่านสื่อต่าง ๆ 2. ให้เจ้าหน้าที่ดูแลควบคุมห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ในสถานที่และเวลาห้ามขาย และห้ามขายสุราให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีเพื่อจำกัดการเข้าถึงสิ่งมึนเมาเหล่านี้ และ 3. ด้านการรักษาพยาบาล ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ทีมกู้ชีพฉุกเฉินดูแลผู้บาดเจ็บที่เกิดเหตุ และหน่วยรักษาในโรงพยาบาล โดยมีทีมกู้ชีพทั้งภาครัฐและเอกชนรวม 7,882 ทีมทั่วประเทศ กระจายทั้งเขตในเมืองและหมู่บ้าน ประกอบด้วยหน่วยปฏิบัติการระดับสูง 1,015 หน่วย หน่วยปฏิบัติการระดับกลางพื้นฐาน 1,309 หน่วย และหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินเบื้องต้น 5,558 หน่วยรวมทั้งประสานการจัดระบบการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลโดย ใช้เฮลิคอปเตอร์หรือเรือเร็วด้วย ซึ่งมีสายด่วนแจ้งเหตุตรงทาง 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนการดูแลรักษาในโรงพยาบาล ได้มีการเตรียมความพร้อมโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 800 แห่ง ทั้งห้องฉุกเฉินห้องผ่าตัดคลังเลือด ห้องไอซียู ตึกผู้ป่วย รวมทั้งบุคลากรการแพทย์ พยาบาล ขึ้นเวร 2 เท่าตัวเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 12-18 เมษายน 2553

ทางด้านนายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจราจร   มีความรุนแรงหลายระดับ บางรายอาจไม่ปรากฏเลือดออกภายนอก แต่อวัยวะภายในช้ำ บาดเจ็บรุนแรง และบางรายแพทย์อาจวินิจฉัยยุ่งยาก โดยเฉพาะรายที่บาดเจ็บทางสมองและเมาสุราด้วย บางรายอาจหมดสติ หรือเอะอะโวยวาย ซึ่งเป็นได้ทั้งจากสมองกระทบกระเทือนหรือจากฤทธิ์เหล้าก็ได้ ทำให้แยกอาการได้ลำบาก จึงเน้นย้ำให้โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง จัดแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางอยู่ประจำห้องฉุกเฉิน ตลอด 24 ชั่วโมงด้วย รวมทั้งประสานและเตรียมความพร้อมการรับและส่งต่อของสถานพยาบาลในเครือข่าย เป็นการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนมากยิ่งขึ้น  

                                    

เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์นี้เป็นเทศกาลที่มีแต่ความสุข เย็นกาย สบายใจ ขอแนะนำเชิญชวนประชาชน หันมาดื่มน้ำผลไม้ ดื่มนมกันดีกว่า ซึ่งได้ทั้งความสดชื่น ปลอดภัย และยังช่วยลดอุบัติเหตุอีกด้วย เพื่อให้เป็น“สงกรานต์ ปลอดเหล้า ปลอดภัย”   หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้ว ไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะบนท้องถนน

ด้านนายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่ง ในการเล่นสาดน้ำสงกรานต์ อาจมีอันตรายได้ ไม่ควรใช้แป้งผสมสีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร เนื่องจากเป็นอันตราย หากเข้าตา อาจทำให้ตาอักเสบได้  นอกจากนี้จะทำให้เสื้อผ้าสกปรก เปื้อนและซักไม่ออก 

                                                                                     

นายแพทย์มานิต กล่าวต่อไปว่า น้ำที่ใช้เล่นสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากคูคลองริมถนน  เพราะอาจมีเชื้อโรค ได้แก่ แบคทีเรีย เชื้อรา พยาธิ อาจทำให้ตาแดง ตาอักเสบได้   ควรใช้น้ำสะอาด และอย่าสาดแรง ไม่ควรใช้น้ำแข็ง การใช้ปืนฉีดน้ำที่มีกำลังแรง หรือการเอาน้ำแข็งผสมกับน้ำใส่ถุงมัดยางแล้วขว้าง จะเป็นอันตราย อาจทำให้ผู้ขับขี่รถเสียหลัก โดยเฉพาะผู้ขับขี่รถจักยานยนต์ หรือการขว้างใส่รถทัวร์ รถยนต์ อาจทำให้กระจกแตกและเกิดอุบัติเหตุทำให้บาดเจ็บได้   

****************************************  8  เมษายน 2553

 


   
   


View 18    08/04/2553   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ