วันนี้ (6 มีนาคม 2553) ที่สวนน้ำ สยามพาร์ค ซิตี้ กทม. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานเนื่องในวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้เป็นวันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปี เริ่มจัดในปี 2553 เป็นปีแรกในประเทศไทย และตั้งเป้าจะลดการตายจากการจมน้ำของเด็กให้ได้ปีละอย่างน้อย 100 คน กิจกรรมภายในงาน มีการให้ความรู้เรื่องปัญหาการจมน้ำและมาตรการป้องกันในแต่ละช่วงอายุแก่ผู้ปกครองและเด็ก และจัดแข่งขันลอยตัวหมู่ในน้ำของเด็กอายุ 6-14 ปี นาน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นกติกาการแข่งขันลอยตัวหมู่ที่นานที่สุดในประเทศ มีเด็กเข้าร่วมแข่งขันกว่า 250 คน ทั้งเด็กในกทม.และต่างจังหวัด รวมถึงจ.สุรินทร์ซึ่งมีเด็กจมน้ำสูงมาโดยตลอด

                                            

นายจุรินทร์ กล่าวว่า จากการสำรวจเด็กไทยอายุ 5-14 ปีที่มีจำนวน 13 ล้านกว่าคนทั่วประเทศในปี 2549 พบเด็กวัยนี้ว่ายน้ำเป็นเพียงร้อยละ 16 หรือจำนวน 2 ล้านคน กล่าวได้ว่ายังมีเด็กไทยที่ว่ายน้ำไม่เป็น 11 ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เสี่ยงเสียชีวิตหากตกน้ำหรือจมน้ำ เนื่องจากไม่สามารถเอาตัวรอดได้ โดยมีเด็กจมน้ำเข้ารักษาตัวและนอนในโรงพยาบาลปีละ 1,150 ราย มีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลปีละกว่า 12 ล้านบาท เฉลี่ยคนละ 12,000 บาท ระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสูงสุดประมาณ 201 วัน สาเหตุที่ทำให้เด็กไทยว่ายน้ำไม่เป็น เนื่องจากโอกาสที่จะฝึกว่ายน้ำของเด็กไทยอยู่ในวงจำกัด การสอนว่ายน้ำที่มีอยู่ยังขาดทักษะความปลอดภัยทางน้ำ ทักษะการเอาชีวิตรอด การป้องกันอุบัติภัยทางน้ำและการช่วยชีวิตผู้ประสบภัยทางน้ำ

นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า การป้องกันการเสียชีวิตของเด็กจากการจมน้ำ ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ทุกจังหวัด เร่งสร้างป้องกันเด็กจมน้ำให้เด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป หรือในผู้ใหญ่ที่ว่ายน้ำไม่เป็น ในเดือนพฤษภาคมนี้จะจัดอบรมเพื่อให้เป็นครูสอนว่ายน้ำตามหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด ที่ จ.บุรีรัมย์ ทั้งนี้หากเด็กสามารถฝึกฝนทักษะดังกล่าวได้จนชำนาญ จะติดตัวเด็กไปตลอดชีวิต และเด็กไทยก็จะไม่เสียชีวิตจากการจมน้ำ 

                                 

ทางด้านนางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำหลักสูตรว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอดสำเร็จแล้ว เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นการเอาชีวิตรอดในน้ำ ใช้เวลาเรียน 15 ชั่วโมง โดยได้รับงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก นำร่องที่ราชบุรี สุรินทร์ เพชรบูรณ์ และนครศรีธรรมราชแล้ว ผลการดำเนินงานมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก บางพื้นที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะขยายผลให้ครอบคลุมทุกจังหวัดต่อไป

     

“ดิฉันอยากเห็นเด็กไทยทั้ง 13 ล้านคนได้รับวัคซีนป้องกันการจมน้ำครบ 100% เช่นเดียวกับที่เด็กได้รับวัคซีนป้องกันโรคติดต่อ ถึงแม้จะสร้างยากกว่าวัคซีนตัวอื่นๆ เพราะไม่ใช่การฉีดหรือการหยอด หากทุกหน่วยงานร่วมมือกัน เด็กทุกคนก็จะได้รับโอกาสนั้น ไม่ว่าเด็กจะอยู่ห่างไกลแค่ไหน มีสระว่ายน้ำหรือไม่ก็ตาม ดังเช่นเด็กที่จังหวัดสุรินทร์และสุโขทัย ที่มีโอกาสได้รับวัคซีนตัวนี้ และได้มาร่วมกิจกรรมในวันนี้ด้วย” นางพรรณสิริ กล่าว ในการเอาชีวิตรอดเมื่อตกน้ำ สามารถทำได้หลายวิธี กรณีไม่มีอุปกรณ์เกาะพยุงตัวให้ใช้วิธีลอยตัวในน้ำ เช่น การลอยตัวแบบแม่ชีลอยน้ำ แต่หากมีอุปกรณ์เช่น ขวดน้ำเปล่าพลาสติกก็สามารถใช้เกาะพยุงตัวได้ และถึงแม้ว่าจะว่ายน้ำเป็น แต่หากพลัดตกลงไปในน้ำที่ห่างจากฝั่งมากๆ อาจจะไม่สามารถว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้ วิธีที่ดีที่สุดก็คือการลอยตัวอยู่ให้ได้นานที่สุด เพื่อรอการช่วยเหลือ ************* 6 มีนาคม 2553



   
   


View 2       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ