สาธารณสุข เผยการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จุดชนวนวัณโรคให้กลับมาแพร่ระบาดใหม่ ทำให้อัตรารักษาหายและอัตราการขาดยาไม่ได้ตามเป้า เร่งปรับแนวทางการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง เน้นให้ติดตามผู้ป่วยได้ง่ายและสะดวก โดยจังหวัดเชียงใหม่สร้างเครือข่ายพี่เลี้ยง มีทั้งนายจ้าง หัวหน้าคนงาน แรงงานต่างด้าว และนำร่องใช้ พี่เลี้ยงทางโทรศัพท์มือถือ หากประเมินแล้วประสบความสำเร็จ จะขยายผลในพื้นที่อื่นๆต่อไป แพทย์หญิงดารณี วิริยกิจจา ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ปี 2549 พบว่า ประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรคมากที่สุด 4 ลำดับแรก อยู่ในทวีปเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย และบังคลาเทศ สำหรับประเทศไทย มีผู้ป่วยมากเป็นลำดับที่ 18 โดยคาดว่าน่าจะมีผู้ป่วยรายใหม่ทุกประเภท ปีละ 91,000 ราย และประมาณ 40,249 ราย หรือ 63 ต่อแสนประชากร เป็นผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อในเสมหะ เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่พบเชื้อในเสมหะ 49 ต่อแสนประชากร ซึ่งจะเห็นได้ว่าวัณโรคได้กลับมาเป็นปัญหาสาธารณสุขอีกครั้ง และมีแนวโน้มที่จะระบาดรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยในปี 2548 พบผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วย ประมาณร้อยละ 13 แพทย์หญิงดารณี กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยวัณโรคต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานาน อย่างน้อย 6 เดือน จึงจะหายขาด ส่วนหนึ่งจึงมีปัญหารักษาไม่ต่อเนื่องหรือขาดยา กระทรวงสาธารณสุขได้ใช้แนวทางการรักษาวัณโรคแบบมีพี่เลี้ยง (DOT) กำกับดูแลให้ผู้ป่วยกินยาอย่างต่อเนื่อง ตั้งเป้าอัตราความสำเร็จของการรักษาไม่น้อยกว่าร้อยละ 85 และอัตราการขาดยาไม่เกินร้อยละ 5 ซึ่งหลังจากเริ่มใช้การรักษาแบบมีพี่เลี้ยงครอบคลุมทั่วประเทศ ในปี 2545 ในภาพรวมของประเทศ อัตราความสำเร็จของการรักษาเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 68.9 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 77.3 ในปี 2547 ส่วนอัตราการขาดยาลดลง จากร้อยละ 8.8 ในปี 2544 เหลือร้อยละ 6.3 ในปี 2547 สำหรับพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน ซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคเอดส์มากที่สุด พบอัตราการติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วยถึงร้อยละ 30 จากการประเมินผลการรักษาในปี 2548 ยังไม่เป็นได้ตามเป้าหมาย โดยมีอัตราความสำเร็จของการรักษา ร้อยละ 72.9 และอัตราการขาดยา ร้อยละ 6.63 ทั้งนี้ อาจเนื่องจากการรักษาแบบมีพี่เลี้ยง ส่วนใหญ่ทำโดยสมาชิกในครอบครัว ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมเป็นผู้สนับสนุนดูแล และผู้ป่วยเกือบครึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวหรือชาวไทยพื้นที่สูง ดังนั้น จึงต้องปรับกลวิธีให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ เพื่อให้สามารถติดตามกำกับการกินยาของผู้ป่วยได้มากขึ้น ด้านดร.ทันตแพทย์สุรสิงห์ วิศรุตรัตน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ วัณโรคของจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2549 มีผู้ป่วยทั้งหมด 2,495 ราย เป็นผู้ป่วยรายใหม่ 1,926 ราย มีอัตราการติดเชื้อเอดส์ร่วมด้วยร้อยละ 19.9 ซึ่งอัตราความสำเร็จของการรักษามีแนวโน้มดีขึ้น จากร้อยละ 65.6 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 75.36 ในปี 2549 ส่วนอัตราขาดยาลดลงจากร้อยละ 9.7 ในปี 2546 เหลือร้อยละ 6.59 ในปี 2549 ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงได้ปรับรูปแบบการติดตามการกินยาของผู้ป่วยให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและสภาพพื้นที่ อาทิ ให้ผู้ป่วยมากินยาต่อหน้าพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงเอายาไปให้ผู้ป่วยที่บ้านทุกวัน ติดตามผู้ป่วยทางโทรศัพท์ สร้างอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว เป็นต้น สำหรับอำเภอแม่แตง พี่เลี้ยงที่ดูแลกำกับการกินยาของผู้ป่วยวัณโรค จะเลือกคนที่สามารถติดตามผู้ป่วยได้จริงจัง หากไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น เป็นญาติ นายจ้าง หัวหน้าคนงาน หรืออาสาสมัครเอดส์ จะมีการอบรมให้ความรู้อย่างเข้มข้นก่อน และประสานการทำงานกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นทีม ทำให้ปีที่ผ่านมาผู้ป่วยวัณโรคของอำเภอแม่แตงทั้งหมด 18 ราย ได้รับการรักษาต่อเนื่องจนหายขาดแล้ว 12 ราย ที่เหลือ 6 ราย อยู่ระหว่างการรักษา นอกจากนี้ ยังได้เริ่มทำโครงการกินยาแบบมีพี่เลี้ยงทางโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นเครื่องมือสื่อสารที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน โดยใช้อาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยวัณโรคที่รักษาจนหายขาดแล้ว เป็นผู้ติดตามการกินยาของผู้ป่วย ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาหรืออาการข้างเคียงจากการใช้ยา รวมทั้งให้กำลังใจ เนื่องจากผู้ป่วยต้องกินยาติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยนำร่องในพื้นที่อำเภอสารภีและอำเภอสันป่าตอง เริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมาพบว่าได้ผลดี สามารถติดตามผู้ป่วยได้ทุกรายและผู้ป่วยมีความพึงพอใจ อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นโครงการในเดือนเมษายน 2550 จะมีการประเมินผลอีกครั้ง หากได้ผลดีจะขยายให้ครอบคลุมในพื้นที่ที่เหมาะสมต่อไป มกราคม6/10-11 *************************** 25 มกราคม 2550


   
   


View 9    25/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ