สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 193 View
- อ่านต่อ
สาธารณสุขร่วมมือกับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ จัดโครงการตรวจและผ่าตัดรักษาฟรี เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด นำร่องปีนี้ 15 จังหวัด โดยไทยพบเด็กพิการแต่กำเนิดเพิ่มปีละ 7,000-8,000 คน คาดว่าขณะนี้จะมีเด็กนักเรียนป.1-6 ป่วยเป็นโรคนี้โดยไม่รู้ตัวประมาณ 5,000-10,000 คน และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของเด็กไทย หากเด็กได้รับการรักษา ก็จะสามารถใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติ
บ่ายวันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2553) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6” ระหว่างศ.เกียรติคุณนายแพทย์บุญชอบ พงษ์พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิเด็กโรคหัวใจ ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กับนายมานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค, ศ.พิเศษ ดร.กาญจนา เงารังษี มหาวิทยาลัยนเรศวร, นายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขา สปสช. เพื่อให้การดูแลรักษาเด็กที่เป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดทั่วประเทศ ได้รับการบริการอย่างครบวงจร
ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ จะอบรมพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพ หรือเจ้าพนักงานสาธารณสุขในสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ สามารถตรวจคัดกรองอาการของเด็กเบื้องต้น จากนั้นมูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯ จะส่งให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารแพทย์เวชศาสตร์โรคหัวใจ จากมหาวิทยาลัยนเรศวรไปตรวจวินิจฉัยยืนยันด้วยเครื่องตรวจการทำงานของหัวใจ (Echocardiogram) หากพบเด็กป่วยเป็นโรคหัวใจและจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด มูลนิธิเด็กโรคหัวใจฯจะเป็นผู้ประสานงานกับโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องเพื่อผ่าตัดรักษาฟรี โดยจะดำเนินการเป็นเวลา 5 ปีๆละ 15 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นไป ใช้งบประมาณปีละ 105 ล้านบาท
15 จังหวัดที่เข้าโครงการตรวจคัดกรองฯในปีนี้ได้แก่ นนทบุรี สิงห์บุรี สระบุรี ตราด นครปฐม ราชบุรี บุรีรัมย์ อุดรธานี อุบลราชธานี แม่ฮ่องสอน นครศรีธรรมราช สตูล ตรัง ชัยนาท และหนองบัวลำภู
ทางด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด เป็นโรคที่พบได้บ่อยและยังเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ของไทย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผลสำรวจในปี 2547 พบเด็กนักเรียนประถมศึกษาเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดพันละ 1-3 คน คาดว่าในกลุ่มนักเรียนปี 1-6 ที่มี 4 ล้าน 5 แสนกว่าคนทั่วประเทศ จะมีเด็กเป็นโรคนี้ประมาณ 5,000-10,000 คน ที่ยังไม่ได้รับการรักษา โดยกว่าร้อยละ 60 ต้องได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งหลังผ่าตัดจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ
ทั้งนี้ ต่อปีประเทศไทยพบเด็กไทยเป็นโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดปีละประมาณ 7,000- 8,000 คน โดยพบได้ 8-10 คน ในเด็กทารกแรกเกิดทุก 1,000 คน กว่าร้อยละ 95 ยังไม่ทราบสาเหตุ อีกร้อยละ 5 เกิดจากแม่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์ ในจำนวนนี้จะมีเด็กประมาณ 1 ใน 4 ที่มีอาการและตรวจพบตั้งแต่แรกเกิด คือเด็กจะมีน้ำหนักตัวน้อย หายใจหอบบ่อย ปลายมือปลายเท้าเขียวขณะร้องไห้ และส่วนใหญ่จะตรวจพบความผิดปกติเมื่ออายุ 2-3 เดือน โรคนี้รักษาได้โดยด้วยการผ่าตัดหรือใส่สายสวนหัวใจ
********************************** 18 กุมภาพันธ์ 2553