สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 532 View
- อ่านต่อ
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เผย ภาพรวมเหลือน้ำท่วม 10 จังหวัด หลายพื้นที่เข้าสู่ระยะฟื้นฟูหลังน้ำลด ล่าสุด "ลำพูน-อุทัยธานี" เริ่มคลี่คลาย จัดทีมช่วยฟื้นฟูอนามัยสิ่งแวดล้อมบ้านเรือนและชุมชน ห่วงปัญหาฝุ่น PM10 เพิ่มสูงขึ้น แนะ 9 วิธีป้องกัน กำชับ 18-20 ต.ค. ยังมีฝนตกหนัก เฝ้าระวังน้ำป่า-ดินถล่ม 4 จังหวัดตะวันออก 5 จังหวัดใต้ 1 จังหวัดเหนือ และ 8 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมขัง
วันนี้ (18 ตุลาคม 2567) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณี สถานการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม ครั้งที่ 27/2567 ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่ทยอยเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูหลังน้ำลด ล่าสุดลำพูนและอุทัยธานีสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การดูแลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมรองรับการฟื้นฟูบ้านเรือนผู้ประสบภัยและสถานที่สาธารณะต่างๆ เพื่อป้องกัน/ลดความเสี่ยงโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำ ซึ่งที่ผ่านมา กรมอนามัยได้จัดทีมปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินและสาธารณภัยด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม (SEhRT) ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพื้นที่ต่างๆ เช่น อ่างทอง สิงห์บุรี สุโขทัย พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น ทั้งการสื่อสารความเสี่ยง ให้ความรู้การรับมือน้ำท่วม การปฏิบัติตนเพื่อลดความเสี่ยงสุขภาพ การรื้อ ล้าง ทำความสะอาดที่อยู่อาศัยและชุมชน และสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลสุขอนามัยและการจัดการสุขาภิบาล การปรับปรุงประปาหมู่บ้าน ประปาชุมชน ควบคุมคุณภาพน้ำให้ได้ตามมาตรฐาน
นพ.โสภณกล่าวต่อว่า ในช่วงฟื้นฟูหลังน้ำลด ที่ประชุม ศปช. ได้กำชับให้ดูแลเฝ้าระวังปัญหาฝุ่นละอองที่จะเพิ่มขึ้นจากดินโคลนแห้งและจากการทำความสะอาดบ้านเรือน เช่นที่ จ.เชียงใหม่ ช่วงวันที่ 15 กันยายน - 14 ตุลาคม 2567 พบค่าฝุ่น PM10 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และบางเวลาสูงเกินมาตรฐานจนอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานในพื้นที่ได้เฝ้าระวัง ติดตามและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยแนะนำ 9 วิธีป้องกันฝุ่นละอองหลังน้ำท่วม คือ 1.เร่งทำความสะอาดล้างโคลนบนพื้นถนนป้องกันการเกิดฝุ่น 2.ในพื้นที่ฝุ่นจำนวนมาก ควรจำกัดความเร็วรถไม่ให้ฟุ้งกระจาย 3.ติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่อย่างใกล้ชิด 4.หลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่มีฝุ่นจำนวนมากและสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา 5.ดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ อย่างน้อย 8-10 แก้ว 6.กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้มีโรคประจำตัว หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน 7.ใช้ผ้าชุบน้ำทำความสะอาดบ้าน ประตูหน้าต่าง และสวมหน้ากากตลอดเวลา 8.ลดกิจกรรมก่อฝุ่น เช่น จุดธูป เผาขยะ เป็นต้น และ 9.จัดทำห้องปลอดฝุ่น มุ้งปลอดฝุ่นให้กลุ่มเสี่ยง รวมถึงสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยวด้วย
สำหรับภาพรวมสถานการณ์น้ำท่วมปัจจุบันลดลงเหลือ 10 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครนายก อ่างทอง สุพรรณบุรี และกาฬสินธุ์ สถานบริการสาธารณสุขยังปิดให้บริการเพียง 1 แห่ง คือ รพ.สต.บ้านวังลูกช้าง จ.พิจิตร เนื่องจากติดกับแม่น้ำยม ทำให้ประชาชนเดินทางลำบาก ได้ย้ายจุดให้บริการและคาดว่าจะกลับมาเปิดได้ตามปกติสิ้นเดือนตุลาคมนี้ ทั้งนี้จากการเฝ้าระวังสถานการณ์ พบว่า หลายพื้นที่ยังมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ช่วงวันที่ 18-20 ตุลาคมนี้ ให้ติดตามเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากใน 4 จังหวัดภาคตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี ชลบุรี ระยอง 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร พังงา ยะลา และ 1 จังหวัดภาคเหนือ คือ น่าน รวมถึง 8 จังหวัดเสี่ยงน้ำท่วมขังสูงสุด คือ พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สุพรรณบุรี พิษณุโลก สมุทรปราการ นครพนม นราธิวาส และยะลา
********************************* 18 ตุลาคม 2567