ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยอาการคืบหน้าของชายเลี้ยงเป็ดที่อ.บางปะหัน หลังป่วย ขณะนี้ไข้ลดลง สบายดี ผลการตรวจเชื้อเบื้องต้นเป็นลบ รอผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการพรุ่งนี้ พร้อมย้ำเตือนประชาชนทุกพื้นที่ หากมีสัตว์ปีกกำลังป่วย หงอย เซื่องซึมหรือตายแล้ว ห้ามนำมาเชือดกินอย่างเด็ดขาด แม้จะไม่อยู่ในพื้นที่สีแดงก็ตาม เพราะเสี่ยงติดเชื้อขณะถอนขน ยืนยันโรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดพร้อมดูแลรักษาฟรีตลอด 24 ชั่วโมง แนะประชาชนควรงดกินไข่ลวก ไข่ยางมะตูม และสลัดไข่ดิบเพื่อความปลอดภัย นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าของการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่เชื้อไข้หวัดนกระบาดทั่วโลก รวมทั้งในไทย โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกระดับ และอสม.ทุกจังหวัด กำลังช่วยกันเฝ้าระวัง ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกสู่คนอย่างเต็มที่ตามมาตรการที่กำหนด ผลการเฝ้าระวังในรอบ 20 วันในปี 2550 นี้ยังไม่พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกรายใหม่ โดยหากมีผู้ป่วยที่ติดเชื้อไข้หวัดนก หรือเป็นเพียงผู้ป่วยที่มีอาการไข้ ไอ ปอดบวม อยู่ในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกทุกราย กระทรวงสาธารณสุขจะให้การรักษาฟรี สำหรับผู้ชายวัย 43 ปี คนเลี้ยงเป็ดที่หมู่ที่ 4 ต.ทับน้ำ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ที่มีอาการป่วย มีไข้หลังจากฝังทำลายเป็ด 93 ตัวที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ และแพทย์นำตัวเข้าดูแลสังเกตอาการที่โรงพยาบาลบางปะหัน เมื่อเย็นวานนี้ ผลการตรวจเชื้อด้วยชุดทดสอบเชื้อไข้หวัดใหญ่ ให้ผลเป็นลบ ผลเอ็กซเรย์ปอดปกติ อาการล่าสุดเมื่อ12.00 น.วันนี้ ( 20 มกราคม 2550 ) ไม่มีไข้ หายใจปกติ แพทย์ให้นอนในห้องแยกปลอดเชื้อดูอาการต่อไปอีก 2-3 วัน อยู่ระหว่างรอผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการในวันพรุ่งนี้ ส่วนที่หมู่บ้านดังกล่าว ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปควบคุมโรค ให้ความรู้ประชาชนในพื้นที่ต่อเนื่อง และเฝ้าระวังผู้ที่มีอาการไข้ ไออย่างใกล้ชิด นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการควบคุมป้องกันของกระทรวงสาธารณสุขมี 5 ประการ กล่าวคือ 1.ขอให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็ดไก่มีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดนกได้ แม้ว่าจะไม่อยู่ในพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกก็ตาม หากพบเป็ดไก่ตาย มีอาการหงอยเหงา เซื่องซึม ให้แจ้งปศุสัตว์หรืออสม. ทันที ห้ามนำสัตว์ปีกที่กำลังป่วยหรือตายแล้วมาเชือดเป็นอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะเสี่ยงติดเชื้อไข้หวัดนกระหว่างที่มีการถอนขนสัตว์ 2. ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับอสม.อาสาสมัครปศุสัตว์ ที่ค้นหาผู้ที่มีไข้ในหมู่บ้าน ถ้าพบให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่งหรือที่โรงพยาบาลเอกชน และให้บอกประวัติสัมผัสสัตว์ปีกด้วย อย่าปิดบังเป็นอันขาด เพราะจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากเชื้อโรคลุกลามเข้าปอดแล้ว และกระทรวงสาธารณสุขจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมป้องกันโรคในบ้านและชุมชนใกล้เคียง เพื่อสร้างปลอดภัยให้ประชาชนรายอื่นๆ 3. ให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทุกคน ใช้ระบบการป้องกันการติดเชื้อเป็นระบบเดียวกับสากล คือใส่ถุงมือ สวมเสื้อคลุมป้องกันการสัมผัส ใส่หน้ากากอนามัยขณะที่ตรวจผู้ป่วย รวมทั้งเจ้าหน้าที่อื่นๆด้วยขณะเข้าไปทำลายสัตว์ปีกติดเชื้อ 4 ในกรณีที่ต้องกินไก่ ไข่ ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ขอให้ปรุงสุกด้วยความร้อนก่อนทุกครั้ง ช่วงนี้ขอให้งดกินน้ำสลัดไข่ ไข่ลวก ไข่ยางมะตูม ไปก่อน 5. ให้โรงพยาบาลที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกระดับ สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์อย่างเพียงพอ และพร้อมให้การดูแลรักษาฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง


   
   


View 7    20/01/2550   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ